อุปราคาครั้งแรกของปีเกิดขึ้นในเช้าวันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2555 ตามเวลาประเทศไทย ดวงจันทร์เพิ่งจะผ่านตำแหน่งไกลโลกที่สุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม วันนี้ดวงจันทร์จึงอยู่ห่างโลกจนมีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ เกิดเป็นสุริยุปราคาวงแหวน เส้นทางคราสวงแหวนผ่านจีน ญี่ปุ่น ทางเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก และสหรัฐอเมริกา
_ |
สุริยุปราคาเริ่มขึ้นเมื่อเงามัวแตะผิวโลกในเวลา 03:56 น. ตามเวลาประเทศไทย จากนั้นเวลา 05:06 น. เงาคราสวงแหวนเริ่มสัมผัสผิวโลกในอ่าวตังเกี๋ย ความกว้างของเงาอยู่ที่ 324 กิโลเมตร โดยเคลื่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออย่างรวดเร็ว ผ่านพื้นที่บางส่วนของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง รวมทั้งมณฑลที่อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ได้แก่ เจียงซี กว่างตง ฝูเจี้ยน และเจ้อเจียง พื้นที่เล็ก ๆ ตรงชายฝั่งทางเหนือของเกาะไห่หนานมีโอกาสเห็นสุริยุปราคาวงแหวนเป็นเวลาสั้น ๆ ขณะดวงอาทิตย์ขึ้น
เมืองกว่างโจวในมณฑลกว่างตงอยู่ใกล้เส้นกลางคราส เกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 4 นาที 26 วินาที ดวงอาทิตย์มีมุมเงย 5° เขตบริหารพิเศษฮ่องกงอยู่ห่างไปทางใต้ แต่ยังอยู่ในเขตสุริยุปราคาวงแหวน เกาะฮ่องกงเห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน 3 นาทีครึ่ง เมืองฝูโจวในมณฑลฝูเจี้ยนเห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน 4 นาที 15 วินาที มุมเงย 12° ขอบเขตด้านทิศเหนือลากผ่านพื้นที่ทางใต้ของมณฑลเจ้อเจียง
เงาคราสวงแหวนปกคลุมตอนเหนือของช่องแคบไต้หวัน ก่อนเคลื่อนเข้าสู่ทะเลจีนตะวันออก ขอบเขตด้านทิศใต้ของแนวสุริยุปราคาวงแหวนผ่านตอนเหนือของเกาะไต้หวัน เมืองไทเปเกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 1 นาที 53 วินาที มุมเงย 13°
หลังจากผ่านทะเลจีนตะวันออก เงาคราสวงแหวนแตะแผ่นดินอีกครั้งที่ประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านเกาะเล็ก ๆ และพื้นที่บางส่วนของภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ คีวชู ชิโกะกุ คันไซ จูบุ คันโต และโทโฮะกุ เมืองโอซะกะอยู่ในเส้นทางคราสวงแหวน แต่ใกล้ขอบเขตด้านทิศเหนือ เห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน 2 นาที 52 วินาที มุมเงย 31° นะโงะยะเห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน 3 นาที 40 วินาที มุมเงย 32° โตเกียวอยู่ใกล้เส้นกลางคราส เห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน 5 นาที 4 วินาที มุมเงย 35°
หลังจากผ่านญี่ปุ่น แนวคราสวงแหวนลากผ่านพื้นที่กว้างใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิก กึ่งกลางคราสซึ่งเห็นสุริยุปราคาวงแหวนเกือบนานที่สุด อยู่ทางตอนเหนือของมหาสมุทร นาน 5 นาที 46 วินาที เกิดขึ้นเวลา 06:53:46 น. ที่นั่นเงาคราสวงแหวนกว้าง 237 กิโลเมตร จากนั้นข้ามเส้นแบ่งวันตรงลองจิจูด 180° ในเวลา 07:00 น. แล้วมุ่งหน้าไปแตะชายฝั่งบริเวณพรมแดนระหว่างรัฐแคลิฟอร์เนียกับออริกอน ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาในเวลาประมาณ 08:23 น.
เงาคราสวงแหวนผ่านพื้นที่บางส่วนของหลายรัฐในอเมริกันเวสต์ ได้แก่ ออริกอน แคลิฟอร์เนีย เนวาดา ยูทาห์ แอริโซนา โคโลราโด นิวเม็กซิโก และเทกซัส ขณะนั้นเป็นช่วงเย็นของวันที่ 20 พฤษภาคม ตามเวลาท้องถิ่น ขณะแตะชายฝั่งของสหรัฐอเมริกา ผู้ที่อยู่ตรงแนวเส้นกลางคราสจะเห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน 4 นาที 48 วินาที มุมเงย 22° เงาคราสวงแหวนเคลื่อนไปทางทิศตะวันออก พาดผ่านเทือกเขาและที่ราบสูงด้านตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ลาสเวกัสในรัฐเนวาดาอยู่ห่างไปทางทิศใต้ นอกแนวคราสวงแหวน
เมืองเซนต์จอร์จ รัฐยูทาห์ เกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 4 นาที 12 วินาที มุมเงย 11° เมืองอัลบาเคอร์คี เมืองใหญ่ที่สุดของรัฐนิวเม็กซิโก อยู่ใกล้แนวกลางคราส เกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 4 นาที 26 วินาที มุมเงย 5° เงาคราสวงแหวนหลุดออกจากผิวโลกในเวลา 08:39 น. บริเวณรัฐเทกซัส หลังจากนั้น ปรากฏการณ์จะสิ้นสุดเมื่อเงามัวหลุดออกจากผิวโลกในเวลา 09:49 น.
พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ มีโอกาสเห็นสุริยุปราคาบางส่วนขณะดวงอาทิตย์ขึ้น ภาคกลางเห็นดวงอาทิตย์แหว่งเล็กน้อย และสิ้นสุดปรากฏการณ์ไปไม่นานหลังดวงอาทิตย์ขึ้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากที่สุดและนานกว่าภาคอื่น ๆ
บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้คือส่วนใหญ่ของทวีปเอเชีย ตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก และส่วนใหญ่ของอเมริกาเหนือ สุริยุปราคาดำเนินอยู่ขณะดวงอาทิตย์ขึ้นเมื่อสังเกตจากเอเชีย และดำเนินอยู่ขณะดวงอาทิตย์ตกเมื่อสังเกตจากหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา
สุริยุปราคาครั้งนี้เกิดขึ้นที่จุดโหนดลงในวงโคจรของดวงจันทร์รอบโลก เป็นสุริยุปราคาครั้งที่ 58 ใน 73 ครั้งของซารอสที่ 128 ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 984 สิ้นสุดในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2282 ซารอสนี้ประกอบด้วยสุริยุปราคาบางส่วน 24 ครั้ง เต็มดวง 4 ครั้ง ผสม 4 ครั้ง วงแหวน 32 ครั้ง และบางส่วน 9 ครั้ง ตามลำดับ ชุดซารอสนี้เริ่มบริเวณใกล้ขั้วโลกใต้ สิ้นสุดบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือ สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่นานที่สุดคือ 1 นาที 45 วินาที เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1453 สุริยุปราคาวงแหวนครั้งที่นานที่สุดคือ 8 นาที 35 วินาที เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1832
|
ที่มา http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/eclipses/2012eclipses.html
http://www.pantip.com
สุริยุปราคาวงแหวน 21 พฤษภาคม 2555 ข้อมูลดี น่าสนใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น