เรื่องแปลก ใหม่ น่าสนใจ ข่าวสาร บันเทิง สนุก เซ็กซี่ sexy ที่คุณ อยากรู้ ที่นี่ครับ ^^
วิธี ทดสอบ น้ำผึ้งแท้
น้ำผึ้ง นอกจากจะใช้แต่งกลิ่นแต่งรสในอาหาร ขนม และเครื่องดื่มแล้ว ยังใช้เป็นส่วนผสมในยาหลายขนาน รวมทั้งสูตรเสริมความงามอีกหลายสูตร เรียกได้ว่านำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย มีคุณค่าทางอาหารและมีสรรพคุณทางยา แต่การใช้น้ำผึ้งเพื่อให้ได้คุณค่าที่แท้จริงนั้น ต้องเลือกน้ำผึ้งแท้เท่านั้น ขณะที่ความต้องการน้ำผึ้งมีมากกว่าที่ผลิตได้ตามธรรมชาติ จึงมีคนทำน้ำผึ้งปลอมมาหลอกขายกัน วันนี้จึงมีวิธีสังเกตและทดสอบน้ำผึ้งแท้มาฝากค่ะ
สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับการรับประทานน้ำผึ้ง เพียงแค่สังเกตจากลักษณะและลองชิมดู ก็อาจทราบแล้วว่าเป็นน้ำผึ้งแท้หรือไม่ แต่สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่ชำนาญ คงเป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดลงไป น้ำผึ้งส่วนใหญ่ที่ขายตามห้าง ยี่ห้อที่มีชื่อเสียงมานาน ก็ไม่น่าจะเอาชื่อเสียงของตัวเองมาเสี่ยง แต่สำหรับน้ำผึ้งที่ชาวบ้านหาบขายหรือวางขายตามร้านค้าตามบ้าน ก่อนจะเลือกซื้อต้องพิจารณาให้ดี
วิธีพิสูจน์น้ำผึ้งแท้ที่เราเคยทราบกันมา เช่น หยดน้ำผึ้งลงบนกระดาษทิชชู น้ำผึ้งแท้จะซึมผ่านช้ามาก แต่น้ำผึ้งปลอมจะซึมผ่านเร็ว หรือทำให้กระดาษทิชชูขาดทะลุ เนื่องจากมีปริมาณน้ำเจือปนอยู่มาก หรือวิธีนำหัวไม้ขีดมาจุ่มน้ำผึ้ง แล้วนำไปจุดที่ข้างกลักไม้ขีด ถ้าเป็นน้ำผึ้งแท้จะจุดไฟติด ส่วนน้ำผึ้งปลอมจะจุดไฟไม่ติดเพราะจะดูดซึมน้ำเอาไว้ อีกวิธีก็คือหยดน้ำผึ้งลงในแก้วใส่น้ำเย็น น้ำผึ้งแท้จะจมลงก้นแก้วแล้วค่อยละลาย ส่วนน้ำผึ้งปลอมเมื่อหยดลงน้ำจะกระจายตัวทันที
วิธีการต่างๆ เหล่านี้ที่จริงแล้วบอกได้เพียงความเข้มข้นของน้ำผึ้ง แต่บางครั้งก็ไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าเป็นน้ำผึ้งแท้หรือไม่ เพราะน้ำผึ้งที่ผสมแบะแซหรือคาราเมล ก็มีความข้นหนืดเหมือนน้ำผึ้งแท้ได้เช่นกัน
การทดสอบน้ำผึ้งว่าเป็นของแท้หรือไม่ ต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ทดสอบเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน จึงจะทราบแน่ชัด ไม่มีวิธีการทดสอบง่ายๆ ตามที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมา อย่างไรก็ตาม มีหลักเกณฑ์ที่พอจะใช้สำหรับสังเกตน้ำผึ้งแท้ได้ ดังนี้
- น้ำผึ้งต้องมีสีตามธรรมชาติ ตั้งแต่สีเหลืองอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาล แต่ถ้ามีสีเข้มมากจนดำแสดงว่าเป็นน้ำผึ้งที่เก็บมานานแล้ว ซึ่งคุณประโยชน์อาจจะลดน้อยลงไป ควรสังเกตวันหมดอายุที่ข้างขวดด้วย
- น้ำผึ้งต้องใสสะอาด ไม่มีสิ่งเจือปน ไม่มีผึ้งปน ถ้ามีแสดงว่าวิธีการเก็บเกี่ยวไม่ดี
- เขย่าขวดดูฟองอากาศและการแยกชั้น น้ำผึ้งแท้จะมีฟองอากาศใหญ่ ลอยตัวเร็ว เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แยกชั้น ส่วนน้ำผึ้งปลอมจะมีฟองอากาศมาก ลอยตัวช้า และมองเห็นการแยกตัวเป็นชั้น
- น้ำผึ้งแท้จะมีความหนืด เหนียว ไหลช้าเวลาเท แม้จะอยู่ในสภาพอากาศร้อน
- น้ำผึ้งควรมีกลิ่นหอมของดอกไม้ที่ระบุไว้บนฉลาก เช่น น้ำผึ้งลำไยก็ควรมีกลิ่นลำไย นอกจากนี้ควรมีกลิ่นรสตามธรรมชาติ ไม่บูดเปรี้ยวหรือเป็นฟอง
- สังเกตจากผลึกของน้ำผึ้ง หลายคนเข้าใจผิดว่า น้ำผึ้งแท้นั้นไม่ตกผลึก แต่น้ำผึ้งปลอมตกผลึก ความจริงแล้วทั้งน้ำผึ้งแท้และน้ำผึ้งปลอมตกผลึกได้เหมือนกัน เพียงแต่รูปแบบของผลึกจะแตกต่างกัน ผลึกของน้ำผึ้งแท้จะเป็นเหลี่ยมเป็นแท่งที่แหลมคม ส่วนน้ำผึ้งปลอมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลหรือคาราเมล ผลึกจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู แต่ต้องส่องดูด้วยกล้องจุลทัศน์จึงจะมองเห็น ส่วนน้ำผึ้งปลอมที่ทำจากแบะแซจะไม่มีการตกผลึก น้ำผึ้งที่ตกผลึกก้นขวด อาจเป็นเพราะเก็บไว้นานแล้ว
- ถ้าดูน้ำผึ้งไม่เป็นเลย ก็อาจสังเกตจากฉลากว่า มีชื่อผู้ผลิตและที่อยู่ชัดเจน บริษัทผู้ผลิตน่าเชื่อถือหรือไม่ ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่ เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกซื้อ โดย อย. ได้กำหนดให้น้ำผึ้งเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ ต้องมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด ห้ามเจือสีและห้ามใช้วัตถุเจือปนอาหารทุกชนิด ภาชนะบรรจุต้องสะอาด แห้ง ปิดสนิท ไม่มีสี ไม่มีสารพิษที่อาจละลายออกมา และสามารถมองเห็นน้ำผึ้งที่บรรจุอยู่ภายในได้ ปริมาณที่บรรจุต้องครบตามที่ระบุไว้ในฉลาก ที่สำคัญ ต้องมีเครื่องหมาย อย. บนฉลาก
เมื่อเลือกซื้อน้ำผึ้งที่ดีได้แล้ว ก็ต้องเก็บให้ดีด้วย ควรเก็บในภาชนะปิดสนิท เก็บในที่เย็น แต่ไม่จำเป็นต้องแช่ตู้เย็น และไม่ควรถูกแสงแดด เพราะจะทำให้น้ำผึ้งเสียคุณค่าทางอาหารก่อนที่เราจะรับประทานหมด ตามอายุการใช้งานแล้วไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 2 ปี
และแม้ว่าน้ำผึ้งจะมีสรรพคุณมากมาย แต่ก็ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะหากรับประทานมากเกินไป แทนที่จะได้ประโยชน์ อาจทำให้เกิดโทษได้ โดยเฉพาะถ้าไม่ใช่น้ำผึ้งแท้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ติดตาม เรื่องแปลก ใหม่ ตลก สนุก เซ็กซี่ sexy น่าสนใจอื่น ๆ หรือแวะมาทักทายกัน ได้ที่
ขอขอบคุณที่มา : email
www.facebook.com/somphon http://gplus.to/somphon www.twitter.com/samaphon www.facebook.com/somphon.me http://samaphon.blogspot.com/ |
ขอขอบคุณที่มา : email
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น