ความสุขของ ตามี ชายชราผู้ไม่เคยหมดหวังกับชีวิต
มีคนไม่น้อยที่คิดว่า "เงิน" คือ "ความสุข" ของชีวิต เพราะเชื่อมั่นว่า "เงิน" สามารถบันดาลอำนาจ เกียรติยศได้ทุก ๆ อย่าง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มี "เงิน" มหาศาล แต่พวกเขากลับมี "ความสุข" มากกว่าคนที่มีเงินเสียอีก และ "ตามี หอมคำรื่น" คือหนึ่งในบุคคลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขเพราะพอใจในสิ่งที่ตนเองมี แม้เขาจะเป็นเพียงแค่ชายชราที่ทำหน้าที่เก็บผักขายตามตลาดเท่านั้น
ภาพของชายชราร่างผอมหลังงองุ้มวัยเฉียดเก้าสิบเดินเข็นรถเข็นเก่า ๆ คันหนึ่งไปตามถนน กลายเป็นภาพที่ชินตาของชาวบ้านในหมู่บ้านบางบัวทอง 4 ทุก ๆ เช้า ชายชราที่ผู้คนเรียกว่า "ตามี" จะเข็นรถคู่ใจไปในตลาด แต่ระหว่างทางกลับบ้าน พ่อค้าแม่ค้าในย่านนั้นก็มักจะหยิบยื่นอาหารให้ "ตามี" ติดไม้ติดมือกลับไปทานที่บ้านจนอิ่มท้องเป็นประจำทุกวัน แม้ชายชราจะไม่เคยเอ่ยขอแม้แต่ครั้งเดียว แต่ทุกคนก็รู้สึกเห็นใจและสงสาร "ตามี" จึงแบ่งปันให้ด้วยน้ำใจไมตรี
"ตามี" อาศัยอยู่ในบ้านเช่าหลังเล็ก ๆ กับอีก 4 ชีวิต คือ "ยายสำอางค์ คำหอมรื่น" วัย 76 ปี ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากกว่า 40 ปีที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจนเดินไม่ได้มานานกว่า 5 ปีแล้ว "พี่อ้วน" ลูกสาวคนเล็กที่ทำงานเป็นผู้ช่วยเภสัชกรในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง และหลานชายตัวเล็ก ๆ อีก 2 คน แม้ว่า "พี่อ้วน" จะเป็นคนหาเงินเข้าบ้าน แต่ด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้รายจ่ายสูงตามจนแทบจะไม่พอใช้สำหรับเลี้ยงดูทั้ง 5 ชีวิต นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ "ตามี" ลุกขึ้นมาช่วยเหลือลูกสาวหาเงินเข้าบ้าน
หลังจากทานอาหารเช้ากับครอบครัวเรียบร้อยแล้ว "พี่อ้วน" ก็ออกไปทำงานตามปกติ และก็ได้เวลาที่ชายชราจะออกไปเก็บผักขายแล้วเช่นกัน แม้ว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทุกเดือนจะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในบ้าน แต่ "ตามี" ก็ไม่ขอนั่งกินนอนกินอยู่กับบ้านให้เวลาเดินผ่านไปเปล่า ๆ เขายังคงออกไปเก็บผักหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวอยู่เป็นประจำทุกวัน โดยให้เหตุผลว่า หากไม่หาเงินเก็บไว้ สักวันมันก็ต้องหมด
"ต้องเตรียมตัวไว้ก่อนอด หากอดแล้วค่อยมาทำจะไม่ทันกิน ไม่มีทางที่คนเราจะเงินเหลือหรอก" คุณตาบอก
แม้ว่าระยะทางที่คุณตาเดินไปเก็บผักจะไม่ใช่ทางไกลมากนัก แต่เส้นทางนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะเดินเหินง่าย ๆ เนื่องจากคุณตาจะต้องปีนป่ายข้ามรั้วที่สูงกว่าเมตรไปเก็บผัก ซึ่งหากเป็นคนหนุ่มคนสาวคงปีนป่ายได้ไม่ยาก แต่สำหรับชายวัย 88 ปีที่สังขารเริ่มร่วงโรย เขาจึงพกบันไดส่วนตัวติดรถเข็นไปด้วย เพื่อช่วยให้การปีนป่ายได้สะดวกขึ้น แถมยังต้องลุยน้ำข้ามทุ่ง เพื่อจะได้ผักไปขายที่ตลาดนอกจากนี้ คุณตาก็ยังช่วยปลูกผักเพิ่มให้ เพื่อจะได้มีเก็บมีกินในวันข้างหน้า
ตามี บอกว่า แม้เส้นทางที่เดินมาเก็บผักจะดูลำบาก แต่ตัวเองก็ไม่เคยรู้สึกเหนื่อย ไม่ท้อ ไม่หมดหวัง เพราะเชื่อว่า เทวดาจะช่วยคนทำดี แต่ก่อนจะถึงวันที่เทวดาช่วย เราก็ควรเริ่มต้นช่วยเหลือตัวเองก่อน หากวันใดรู้สึกขี้เกียจขึ้นมา ก็ต้องบังคับตัวเองไม่ให้ขี้เกียจ ด้วยการใช้ธรรมะเตือนตนเอง และเขาก็ยังจะเดินเก็บผักเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะหากจะให้หยุดก็คงทำไมได้
"คนเราเกิดเป็นคน จะมาหยุดอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ นั่นไม่ใช่คน ถ้าเป็นคนต้องทำงาน เกิดมาเพื่อทำงาน อยู่ได้ด้วยงาน" ตามี บอก
เมื่อเข็มสั้นนาฬิกาชี้ที่เลข 11 ก็ได้เวลาที่ "ตามี" เดินทางกลับมาทานข้าวเที่ยงฝีมือยายสำอางค์ที่บ้าน หลังจากออกไปตากแดดร้อน ๆ มาหลายชั่วโมง ก่อนที่คุณตาจะเริ่มทำงานบ้าน ช่วยซักเสื้อผ้าให้คุณยาย ช่วยพาคุณยายเข้าห้องน้ำ ทำความสะอาดให้ทุกอย่าง โดยที่คุณตาไม่ได้ถืออะไร เพราะคิดว่า "เราทำเพื่อเขา เป็นการทำดี ต้องได้ดี"
ฟากฝั่ง "ยายสำอางค์" คู่ชีวิตของ "ตามี" เองก็ยอมรับว่า เคยกังวลว่า ครอบครัวต้องมาลำบากดูแลคนป่วย และเคยคิดอยากตายไปให้พ้น ๆ เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระของใคร แต่สุดท้าย ก็ได้คุณตาช่วยปลอบ ทำให้คลายความกังวลไปได้ ซ้ำยังปลื้มใจในตัวคุณตาเป็นอย่างมาก เพราะคุณตามี "น้ำใจ" และมี "ความดี" ที่ทำให้คุณยายรัก ถึงขนาดที่ว่าตลอด 40 ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันไม่เคยทะเลาะกันเลยสักครั้ง
เมื่อเวลาคล้อยบ่ายไปสักพัก ก็ได้เวลาที่คุณตาต้องเข็นรถออกมาขายผักที่ตลาดเย็นใกล้ ๆ บ้าน แม้ว่าจะขายหมดบ้าง ไม่หมดบ้าง แต่คุณตาก็ไม่ได้คิดมากอะไร เพราะคิดว่า เงินที่ได้มานี้เป็นเงินที่หามาได้โดยไม่มีต้นทุน ไม่มีคำว่าขาดทุน แม้จะได้เพียงแค่หลักสิบหลักร้อยก็ถือเป็นกำไรล้วน ๆ สำหรับเก็บไว้ใช้ในวันข้างหน้า
ชายชรายอมรับว่า เคย "กลัวความจน" แต่ ณ วันนี้ เขาไม่คิดว่าตัวเอง "จน" อีกต่อไปแล้ว เพราะเขามีเงินสำรองเก็บไว้ใช้ในยามเดือดร้อน และไม่เคยคิดจะขี้เกียจ หรือหยุดทำงาน เพราะเชื่อว่าความขยันจะทำให้คนเราเจริญขึ้น ยิ่งทำก็ยิ่งพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ
"ความสุขของทุก ๆ วันในตอนนี้คือความสบายใจ แม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยสักแค่ไหน หรือถ้ามีความทุกข์ ก็แก้ทุกข์นั้นให้หายเสีย จะได้ไม่เหนื่อย เมื่อไม่เหนื่อยก็คือความเบา ความสบาย" คุณตามี ทิ้งท้าย
แม้ว่า "ความสุข" ในชีวิตของคนเรา อาจประมาณค่าเป็นตัวเลข เป็นเงินทองไม่ได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่งดงามของจิตใจ และหากเราจินตนาการให้ "ความสุข" เหล่านั้น สามารถแปรเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินได้ "ตามี คำหอมรื่น" ก็คือมหาเศรษฐีแห่งความสุขอันดับต้น ๆ ของเมืองไทยคนหนึ่งอย่างแน่นอน
ดูผ่านมือถือ คลิ๊กข้างล่าง
ตอน1 ตอน2 ตอน3