ในอันที่จะต้องเผชิญหน้ากับภยันอันตรายที่มองไม่เห็น "เหล่านักผจญเพลิงแห่งฟูกุชิมะ" ได้แบกรับความคาดหวังสูงสุดของคนทั้งชาติที่กำลังเจ็บปวดจากมหันตภัยสึนามิ และความหวาดกลัวอย่างถึงที่สุดของครอบครัวตนเองเอาไว้บนบ่าทั้ง 2 ข้างอย่างไม่พรั่นพรึง ขณะปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เพื่อให้ชาติรอดพ้นจากหายนะของนิวเคลียร์ระเบิด
พลันที่สารกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลออกจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ซึ่งได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิพัดเข้าชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น บรรดานักผจญเพลิงลูกพระอาทิตย์ ได้ถูกเรียกตัวมาปฏิบัติภารกิจที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์อันเป็นความหวังของคนทั้งชาติ
นั่น คือ ภารกิจระดมสรรพกำลังฉีดน้ำทะเลเพื่อพยายามลดความร้อนภายในอาคารของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ป้องกันการระเบิดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ อันเป็นภารกิจเสี่ยงป็นเสี่ยงตาย ทั้งมีผลต่อสุขภาพในอนาคต
"เมื่อผมบอกกับภรรยาว่ากำลังเตรียมตัวไปฟูกูชิมะ ...ภรรยาผมตอบกลับมาว่า ฉันอยากให้เธอไปช่วยชีวิตประเทศของเราไว้" ยาซูโอะ ซาโตะ หัวหน้าหน่วยกู้ภัยของสำนักงานดับเพลิงกรุงโตเกียว ซึ่งมีลูกน้องประมาณ 12 คนเดินทางไปร่วมภารกิจระดมกำลังฉีดน้ำทะเล ดับร้อนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ กล่าว
แม้จะเหนื่อยจนสายตัวแทบขาด แต่น้ำตาก็เอ่อท่วมสองตาของซาโต๊ะโดยพลัน เมื่อถึงตอนที่เขาเอ่ยขึ้นว่า ไม่แน่ใจเหมือนกัน จะได้กลับไปพบหน้าภรรยาอีกครั้งหรือไม่
โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ หมายเลข 1 ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลแปซิฟิกของญี่ปุ่น ได้เกิดระเบิดจนไฟลุกโพรงขึ้นหลายครั้ง นับตั้งแต่เกิดเหตุคลื่นยักษ์สูง 10 เมตร ซัดเข้าญี่ปุ่นเมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้กับระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้จนหยุดทำงานลง
ขณะที่คนทั้งชาติเต็มไปด้วยความเครียดและเศร้าโศกเสียใจ ทั้งจากมหันตภัยสึนามิและความหวาดกลัวเรื่องการระเบิดของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ทว่าเพื่อนร่วมชาติ ก็ได้เห็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจที่กล้าหาญ และไม่หวาดหวั่นอันตราย ของนักผจญเพลิง 50 ชีวิต ที่เข้าไปดับเพลิงอยู่ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ แม้จะทราบดีถึงพิษภัยของสารกัมมันตภาพรังสีที่มีต่อร่างกายก็ตาม
ซาโตะ ในวัยใกล้เกษียณอายุ กล่าวว่า แน่นอนว่าพวกเราตระหนักถึงอันตรายของนิวเคลียร์ แต่พวกเราต้องเอาชนะความหวาดกลัวนั้นให้ได้ และเราเชื่อว่า พวกเราได้ทำงานบรรลุเป้าหมาย เพราะสามารถช่วยให้ระบบหล่อเย็นที่หยุดทำงานลง กลับมาใช้งานได้
อย่างหามรุ่งหามค่ำและเอาเป็นเอาตาย นักผจญเพลิงได้ใช้รถดับเพลิงพร้อมบันไดสูง 22 เมตร ระดมฉีดน้ำทะเล เข้าไปยังอาคารของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 เพื่อทำให้ความร้อนในบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วลดลง ป้องกันการหลอมละลายในเตาปฏิกรณ์ จนกระทั่งสามารถช่วยลดระดับสารกัมมันตรังสีที่วัดได้ในโรงงาน
"ทีมของเรามีสปิริตสูงกันมาก" โตโยฮิโกะ โตมิโอกะ ผู้นำทีมดับเพลิงอีกรายกล่าว ทว่าเขาก็แทบไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เมื่อถูกถามว่างานที่ยากที่สุดของพวกเราคืออะไร
"คุณรู้หรือเปล่าว่า เป็นครอบครัวของเราที่เราทิ้งไว้เบื้องหลัง ผู้รู้สึกเสียใจต่อครอบครัวผม อยากจะขอโทษพวกเขามา ณ ที่นี้ด้วย ที่ไม่สามารถกลับไปช่วยเหลือครอบครัวได้เลย " โตมิโอกะ เอ่ยขึ้น
เหล่านักผจญเพลิงพูดถึงภารกิจของพวกเขาว่า เหมือนทำสงครามกับศัตรูที่มองไม่เห็นที่อยู่ในรูปของกัมมันตภาพรังสี
"เราได้ต่อสู่กับศัตรูที่มองไม่เห็น" ยูกิโอะ ทากานามา ผู้นำทีมดับเพลิงแห่งสำนักงานดับเพลิงโตเกียว กล่าวพร้อมเสริมว่า มันเป็นเรื่องค่อนข้างยากลำบากมากที่จะปฏิบัติภารกิจให้เสร็จสมบูรณ์ และนำลูกทีมของเรากลับออกมาอย่างปลอดภัย ในช่วงระยะเวลาอันสั้น
ทั้งนี้ เฮลิคอปเตอร์ของทหารและรถดับเพลิง ได้มีส่วนร่วมในภารกิจครั้งนี้ รวมไปถึงกองทัพสหรัฐที่จัดหาเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ให้เป็นจำนวนมาก
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ได้เพิ่มระดับความรุนแรงของวิกฤตินิวเคลียร์ฟูกูชิมา จากระดับ 4 เป็นระดับ 5 ในบรรดาทั้งหมด 7 ระดับ โดยการปรับเป็นระดับ 5 ทำให้วิกฤตฟูกูชิมาเท่ากับวิกฤตที่ทรีไมล์ไอส์แลนด์ในรัฐเพนซิลวาเนียของสหรัฐเมื่อปี 2522 ซึ่งส่วนหนึ่งของเตาปฏิกรณ์หลอมละลายทำให้มีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีเล็กน้อยมาก และไม่มีผู้เสียชีวิต
ส่วนหายนะภัยที่เชอร์โนบิลนั้นอยู่ระดับ 7 มีการระเบิดที่โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ ทำให้เถ้าถ่านสารกัมมันตรังสีปลิวไปในรัศมีของยูเครน เบลารุส รัสเซีย และยุโรปตะวันตก ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 4,000 ถึงหลายแสนราย
ล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ (20 มี.ค.)เจ้าหน้าที่บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ บอกว่า อุณหภูมิน้ำในบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 5 ลดลงราว 12 องศาเซลเซียส หลังจากที่ระบบระบายความร้อนเริ่มทำงาน คาดว่า จะสามารถต่อระบบไฟในอาคารเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 2 ในวันนี้ และหวังว่าจะสามารถต่อระบบไฟฟ้าในทุกๆ อาคารเตาปฏิกรณ์ภายในเช้าวันจันทร์
แปลและเรียบเรียงจากเรื่อง " Pride and apprehension for Fukushima firefighters" ที่เขียนโดยชิเกมิ ซาโต๊ะ แห่งสำนักข่าวเอเอฟพี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น