เรื่องแปลก ใหม่ น่าสนใจ ข่าวสาร บันเทิง สนุก เซ็กซี่ sexy ที่คุณ อยากรู้ ที่นี่ครับ ^^

SAMAZshop

Translate

บทเรียนการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วย "เมกะโปรเจคต์" ของเนเธอร์แลนด์


หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการให้ความรู้เรื่องการจัดการน้ำจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ถึงแม้จะมีบริบทต่างจากประเทศไทยอยู่มาก และอาจนำมาปฏิบัติจริงในไทยได้ไม่ทั้งหมด แต่แนวคิดเหล่านี้น่าจะช่วย “จุดประกาย” ความคิดใหม่ๆ ในการบริหารจัดการน้ำในอนาคตได้
ประเทศเนเธอร์แลนด์ (หรือ “ฮอลแลนด์”) ถือเป็นประเทศในยุโรปที่คนไทยรู้จักกันดี คำว่า “เนเธอร์แลนด์” (Netherlands) มีรากมาจากภาษาดัทช์ว่า “neder” ที่แปลว่า “ต่ำ” ซึ่งก็หมายถึงแผ่นดินของประเทศประมาณ 25% ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลนั่นเอง
เหตุผลที่ประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมาจาก เนเธอร์แลนด์เป็นดินแดนที่ตั้งอยู่บนปากแม่น้ำใหญ่ของยุโรป 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำไรน์ (Rhine) แม่น้ำวาล (Waal) และแม่น้ำเมิส (Meuse) ทำให้ที่ดินบริเวณนั้นมีสภาพเป็นปากแม่น้ำ (delta) เป็นที่ราบลุ่มที่เกิดจากการสะสมโคลนตมจากแม่น้ำ ลักษณะแบบเดียวกับกรุงเทพมหานครที่อยู่บนปากแม่น้ำเจ้าพระยา
แผนที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ สังเกตทะเลสาบทางภาคเหนือ และปากแม่น้ำตอนใต้ (ภาพจาก Wikipedia)
ภาพถ่ายดาวเทียมของเนเธอร์แลนด์ (ภาพจาก NASA ที่มา Wikipedia)
แต่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ทะเลเหนือ (North Sea) ที่อยู่หน้าชายฝั่งเนเธอร์แลนด์ ยังมีปรากฎการณ์ที่เรียกว่า storm tide หรือคลื่นชายฝั่งยกตัวสูงจากพายุ ซึ่งระดับน้ำอาจมีความสูงถึง 5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปกติ มิหนำซ้ำ น้ำทะเลจากปรากฏการณ์ storm tide ยังซัดเข้ามายังแม่น้ำที่อยู่ภายในพื้นทวีป จนเกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง
ประวัติศาสตร์ของเนเธอร์แลนด์จึงต้องเผชิญกับปัญหาเรื่อง “น้ำ” อยู่เสมอมา และมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่นับครั้งไม่ถ้วน คร่าชีวิตและทรัพย์สินของประชากรไปมาก
ความโหดร้ายของธรรมชาติกลับทำให้ชาวดัทช์ต้องลุกขึ้นมาสู้เพื่อเอาชีวิตรอด ในสมัยโบราณ (สหัสวรรษแรกหลังคริสตกาล) ชาวดัทช์สร้างเนินเขาขนาดเล็กๆ ที่เรียกว่า “เทิร์พ” (terp) ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาเป็นการสร้างคันดิน เขื่อน ประตูกั้นน้ำ และการใช้กังหันลมวิดน้ำออกจากบริเวณที่ท่วมขัง ซึ่งภายหลังกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ
เนเธอร์แลนด์มีแนวคิดสร้างกำแพงกั้นน้ำขนาดใหญ่มานาน และโครงการเพิ่งมาเป็นจริงได้ในศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมานี้เอง
สภาพภูมิศาสตร์ของเนเธอร์แลนด์ ทำให้บริเวณภาคเหนือกับภาคใต้มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน โครงการแก้ปัญหาอุทกภัยจึงต้องแบ่งแยกกันตามสภาพพื้นที่ โดยโครงการของภาคเหนือมีชื่อว่า Zuiderzee Works ส่วนโครงการของภาคใต้ชื่อ Delta Works

Zuiderzee Works – กั้นทะเลสาบภาคเหนือ สูบน้ำออกเป็นแผ่นดิน

พื้นที่ทางภาคเหนือของเนเธอร์แลนด์มีสภาพเป็นทะเลสาบเปิดขนาดใหญ่ชื่อ Zuiderzee พื้นที่ประมาณ 5,000 ตารางกิโลเมตร เดิมทีเป็นทะเลสาบปิดขนาดเล็ก แต่เนื่องจากพื้นดินบริเวณนั้นบางแห่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เมื่อเกิดปรากฏการณ์ storm tide ทำให้น้ำไหลเข้ามายังพื้นทวีป และขังอยู่ไม่ไปไหน เมื่อกาลเวลาผ่านไป ทะเลสาบ Zuiderzee จึงขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายเชื่อมต่อกับทะเลเหนือในที่สุด กลายเป็นทะเลสาบเปิดที่อยู่ภายในทวีป
ภาพแสดงการขยายตัวของ Zuiderzee ระหว่างศตวรรษที่ 1-10 (จาก Wikipedia)
แนวคิดของการแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือคือสร้างเขื่อนปิดไม่ให้น้ำทะเลไหลเข้ามาได้ เปลี่ยน Zuiderzee ให้กลับกลายเป็นทะเลสาบปิดอีกครั้ง จากนั้นค่อยๆ วิดน้ำจากทะเลสาบออกไปยังทะเลทีละน้อย เพื่อให้แผ่นดินกลับมาใช้งานได้อีก
โครงการ  Zuiderzee Works  มีแนวคิดจะสร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แต่เทคโนโลยีในยุคสมัยนั้นยังไม่พร้อม โครงการเริ่มกลับมาเป็นที่สนใจมากขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เริ่มมีการศึกษาความเป็นไปได้อย่างเป็นระบบโดย Cornelis Lely วิศวกรชาวดัทช์ (ซึ่งภายหลังก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงก่อสร้างและคมนาคมของประเทศในปี 1913) แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือเหตุพายุและอุทกภัยใหญ่ปี 1916 ทำให้เขื่อนกั้น Zuiderzee บางส่วนพังทลาย สร้างความเสียหายมากมาย โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จึงได้รับการอนุมัติในปี 1918
ตัวเขื่อนหลักที่ชื่อ Afsluitdijk มีหน้าที่กั้นครึ่งล่างของ Zuiderzee ไม่ให้น้ำไหลเข้ามายังใจกลางประเทศได้อย่างอิสระ  แบ่งทะเลสาบ Zuiderzee ออกเป็นส่วนนอกและส่วนใน
เขื่อนนี้สร้างเสร็จในปี 1932 และเปิดใช้งานปี 1933 ตัวเขื่อนมีความยาว 32 กิโลเมตร มีความกว้าง 90 เมตร อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 7.25 เมตร ใช้ทรายจำนวนมหาศาล 23 ล้านลูกบาศก์เมตร และดินตะกอนจากธารน้ำแข็งอีก 13.5 ล้านลูกบาศก์เมตร มูลค่าการก่อสร้างคิดตามค่าเงินในปี 2004 อยู่ที่ 700 ล้านยูโร
_
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงเขื่อน Afsluitdijk แบ่งครึ่งทะเลสาบ (ภาพ NASA ที่มา Wikipedia)
เมื่อสร้างเขื่อนหลักกั้นแบ่งทะเลสาบได้สำเร็จ ทะเลสาบปิดส่วนในถูกตั้งชื่อว่า IJsselmeer ชาวดัทช์ก็เริ่มวิดน้ำจากทะเลสาบส่วนในออก เพื่อพัฒนาเป็นที่ดินอยู่อาศัย พื้นที่บางจุดภายใน IJsselmeer ถูกกั้นเขื่อนอีกครั้ง และค่อยๆ วิดน้ำออกอย่างช้าๆ โดยใช้เวลานับสิบปีกว่าจะวิดน้ำหมด และต้องรอแผ่นดินแห้งพออยู่อาศัยได้อีกสิบปีหลังจากนั้น
ชาวดัทช์วางแผนคืนพื้นที่ดินอยู่อาศัยจำนวน 5 แผ่นดิน (polders) ปัจจุบันทำสำเร็จแล้ว 4 แผ่น ส่วนแผ่นสุดท้ายยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและเหตุผลด้านงบประมาณ
ภาพแสดงแผ่นดินใหม่ใน Zuiderzee Works (ภาพจาก Wikipedia)
จากภาพจะแผ่นดินใหม่ทั้ง 4 ส่วน แสดงด้วยสีเขียว ได้แก่ Weiringermeer ทางตะวันตกเฉียงเหนือ, Noordoostpolder ทางตะวันออก, Flevoland ทางใต้ซึ่งแบ่งออกเป็นอีกสองแผ่นย่อย ส่วนแผ่นสุดท้ายคือ Markermeer ทางตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อยุติได้
เมื่อแผ่นดินใหม่มีสภาพพร้อมอาศัย ชาวดัทช์จึงเริ่มเข้าไปตั้งเมืองบนแผ่นดินเหล่านี้ และตั้ง “จังหวัด” ใหม่ที่เกิดจากแผ่นดินมนุษย์สร้างขึ้น โดยรวมแผ่นดิน 3 แผ่นล่าง (Flovoland สองชิ้น และ Noordoostpolder) เข้าด้วยกันเป็นจังหวัด Flevoland
ผืนดินที่สร้างจากการสูบน้ำทะเลมีเนื้อหาที่รวมประมาณ 1,650 ตารางกิโลเมตร ส่วนมากใช้ทำเกษตรกรรม ตามด้วยที่อยู่อาศัย ปัจจุบันจังหวัด Flevoland มีประชากรประมาณ 400,000 คน

Delta Works – ประตูกั้นปากแม่น้ำแห่งภาคใต้

พื้นที่ทางใต้ของเนเธอร์แลนด์ต่างออกไปจากภาคเหนือ เพราะเป็นปากแม่น้ำที่มีแม่น้ำสายย่อยๆ จำนวนมาก แนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมของภาคใต้จึงเป็นการสร้างเขื่อน ประตูน้ำ กำแพงกั้นคลื่นหลายแห่ง เพื่อป้องกันป้องกันคลื่นน้ำทะเลหนุนสูงจากภาวะ storm tide ซึ่งจะต่างไปจากโครงการ Zuiderzee Works ตรงที่เป็นการสร้างเขื่อนขนาดเล็กๆ แต่จำนวนมากแทน
โครงการนี้มีชื่อว่า  Delta Work s เริ่มก่อสร้างทีหลังโครงการ Zuiderzee Works ทางภาคเหนือ เนื่องจากความล่าช้าในการตัดสินใจ และผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เหตุการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงในปี 1953 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,500 ราย และทำลายพื้นที่เกษตรกรรม 9% ของประเทศ ทำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ตัดสินใจเดินหน้าโครงการวิศวกรรมขนาดใหญ่โครงการนี้ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในอนาคต
แผนที่แสดงเขื่อนต่างๆ ในโครงการ Delta Works (ภาพจาก Wikipedia)
โครงการ Delta Works จะสร้างเขื่อน-คันดิน-ประตูกั้นน้ำจำนวนทั้งสิ้น 16 เขื่อน เขื่อนแรกสร้างเสร็จในปี 1950 แต่ก็ต้องรอเวลาอีกกว่า 50 ปีกว่าโครงการทั้งหมดจะเสร็จสิ้น โดยกำแพงกั้นคลื่นแห่งสุดท้ายสร้างเสร็จในปี 1997 และเปิดใช้งานจริงเมื่อปี 2010 นี้เอง
ประเด็นที่น่าสนใจคือการประเมินความคุ้มค่าของโครงการ โดยใช้โมเดลทางเศรษฐศาสตร์เพื่อประเมินความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สิน ในกรณีที่พื้นที่แต่ละจุดเกิดน้ำท่วม แล้วคำนวณเทียบกับค่าก่อสร้างที่ต้องใช้
ในอดีตเนเธอร์แลนด์เคยประสบปัญหา “เขื่อนแตก” เนื่องจากคลื่นลมรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง การสร้าง Delta Works จึงต้องพิจารณาเรื่องความเสี่ยงที่เขื่อนจะพังด้วย โดยทางการดัทช์ได้กำหนดว่าโอกาสที่เขื่อนจะแตกอยู่ระหว่าง 1 ครั้งในรอบ 10,000 ปีสำหรับพื้นที่บางส่วนของประเทศ ถือเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ต้องใช้
ภาพเขื่อนกั้นพายุ Eastern Scheldt Storm Surge Barrier (จาก Wikipedia)
ทั้งสองโครงการคือ Zuiderzee Works ทางเหนือ และ Delta Works ทางภาคใต้ ได้รับการยกย่องจากสมาคมวิศวกรโยธาแห่งอเมริกา (American Society of Civil Engineers) ให้เป็น 1 ใน 7 “สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่” ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าทางวิศวกรรมของโลก ที่ช่วยป้องกันประชาชนจำนวนมากจากภัยธรรมชาติ
ถึงแม้โครงการทั้งสองจะสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ใช่ว่าชาวดัทช์จะปลอดภัยจากอุทกภัย 100% เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น (ตัวเลขประเมินคือเพิ่มอีก 65-130 ซม. ในปี 2100) ตอนนี้เนเธอร์แลนด์ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหาแล้ว
โครงการวิศวกรรมทั้งสองไม่ได้มีแต่ข้อดีเพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติย่อมก่อให้เกิดผลกระทบทางนิเวศวิทยาไม่น้อย เมืองบางแห่งที่เคยอยู่ติดชายฝั่งทะเลสาบ Zuiderzee กลับกลายเป็นเมืองบนบกแทน สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรก็ต้องเปลี่ยนไป แต่ในสายตาของชาวดัทช์แล้ว การป้องกันภัยธรรมชาติอาจเป็นเรื่องสำคัญกว่า และต้องยอมแลกกับทรัพยากรธรรมชาติบางส่วน
นอกจากนี้ ในสายตาของชาวโลกแล้ว Zuiderzee Works และ Delta Works ยังแสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรมขนาดใหญ่เพื่อปกป้องคนในประเทศนั้นทำได้จริง เพียงแต่ต้องอาศัยเวลา งบประมาณ และความร่วมมือของคนในชาติอย่างมาก จึงจะทำได้สำเร็จ
ติดตาม เรื่องแปลก ใหม่ ตลก สนุก เซ็กซี่ sexy น่าสนใจอื่น ๆ หรือแวะมาทักทายกัน ได้ที่
www.facebook.com/somphon http://gplus.to/somphon www.twitter.com/samaphon www.facebook.com/somphon.me http://samaphon.blogspot.com/

          ขอขอบคุณที่มา : email