พิธีร่วมเรียงเคียงหมอน (Bride International)
Thai Tradition By : Thun
นอกจากพิธีแห่ขันหมากหรือรดน้ำสังข์แล้ว ยังมีอีกพิธีเกี่ยวกับการแต่งงานของไทย ที่หลาย ๆ ท่านอาจจะลืมนึกถึงกันไปและนี่ก็เป็นอีก 2 พิธีการ เกี่ยวกับการแต่งงานแบบไทยที่น่าสนใจ ที่คนไทยยุคใหม่อาจจะลืมเลือนไป นั่นคือ พิธีส่งตัวเข้าหอ และ พิธีปูที่นอน หรืออีกชื่อหนึ่งคือ พิธีร่วมเรียงเคียงหมอน
พิธีส่งตัวเข้าหอ
ผู้ใหญ่จะนำเจ้าสาวเข้ามาส่งตัวในห้องหอ ซึ่งเจ้าบ่าวเข้ามาคอยอยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้เข้ามาพร้อม ๆ กัน การส่งตัวไม่มีอะไรซับซ้อน ส่วนสำคัญของพิธีอยู่ที่คู่ผู้ใหญ่ ซึ่งทำพิธีปูที่นอนนั้นพาเจ้าบ่าวเข้ามาในห้องหอเจิมหน้าผากอวยพร จากนั้นค่อยนำเจ้าสาวเข้าห้องหอตามมา โดยเจ้าสาวต้องกราบพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายของตัวเอง เพื่อเป็นการขอพร เมื่อเจ้าสาวเข้ามาในห้องหอแล้ว แม่เจ้าสาวต้องเป็นผู้พามามอบให้กับเจ้าบ่าวพร้อมพูดจาฝากฝังให้ช่วยดูแล จากนั้นจะกล่าวให้โอวาทเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ ในขั้นตอนนี้ธรรมเนียมบางท้องถิ่น จะให้พ่อแม่เจ้าสาวเป็นผู้กล่าว
ในพิธีการส่งตัวเข้าหอ ยังมีความเชื่อในเรื่องของการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ด้วย ดังนี้...
1. กราบขอพรกับพ่อแม่เพื่อเป็นสิริมงคลต่อคู่ชีวิต
2. กราบพระแก้วมรกต, รัชกาลที่ 5, เจ้าแม่กวนอิม, พระประจำเมืองให้คุ้มครองชีวิตคู่ให้อยู่เย็นเป็นสุข จนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร
3. กราบ 6 ทิศ เสริมดวงและความเชื่อต่าง ๆ
พิธีร่วมเรียงเคียงหมอน หรือพิธีปูที่นอน
เริ่มจากการจัดปูที่นอนในห้องหอคืนส่งตัว เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของคู่บ่าวสาวต่อไปในอนาคต ในสมัยก่อนนั้นพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวจะเชิญผู้ใหญ่คู่สามีภรรยา ซึ่งชีวิตครอบครัวอบอุ่นสมบูรณ์ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม อีกทั้งยังมีบุตรที่เป็นคนดี สร้างความภาคภูมิใจให้ครอบครัว เพื่อถือเคล็ดว่าเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะได้มีชีวิตคู่ที่ดี
เช่นเดียวกัน ผู้ใหญ่ที่ทำพิธีปูที่นอนนี้ต้องอาบน้ำให้สะอาด แต่งตัวเรียบร้อยสวยงามดีก่อน แล้วจึงเข้ามาในห้องหอ เพื่อจัดเรียงหมอน 2 ใบ แล้วปัดที่นอนพอเป็นพิธี ไม่จำเป็นต้องปูที่นอนเองทั้งหมดจริง ๆ ก็ได้ จากนั้นจัดวางข้าวของประกอบพิธีลงบนที่นอน อันได้แก่...
1. หินบดยาหรือหินก้อนเส้า ซึ่งใช้ก่อไฟในครัว หมายถึงความหนักแน่น
2. ฟักเขียว หมายถึงความอยู่เย็นเป็นสุข
3. แมวคราว (แมวตัวผู้ที่อายุมากแล้ว) หมายถึงการอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน
4. พานใส่ถุงข้าวเปลือก งา ถั่วทองหรือถั่วเขียว ซึ่งล้วนหมายถึงความเจริญงอกงาม
5. ขันใส่น้ำฝน เป็นความเย็น ความสดชื่นชุ่มฉ่ำ
พิธีร่วมเรียงเคียงหมอนในปัจจุบันนั้น เหลือเพียงการทำแค่พอเป็นพิธีเท่านั้น และเนื่องจากวัฒนธรรมไทยมีความเชื่อในเรื่องของความกตัญญูรู้คุณ โดยเชื่อกันว่าการเนรคุณต่อผู้ที่ปูที่นอนให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว จะทำให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวมีอันเป็นไป ซึ่งจริง ๆ แล้วขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่นัยความจริงอยู่ที่ว่าผู้ที่ได้รับเลือกให้มาเป็นผู้ปูที่นอนให้นั้น ย่อมถือว่าผู้นั้นเป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การยกย่อง ควรเคารพนับถือของเจ้าบ่าวเจ้าสาว และพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ตาม พิธีเหล่านี้เป็นเพียงความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมา เพื่อความเป็นสิริมงคลของตัวคู่บ่าวสาวเท่านั้นการใช้ชีวิตคู่จำเป็นจะต้องมีอีกหลายสิ่งที่ควรยืดมั่นทั้งความซื่อสัตย์ ความเข้าใจ รวมถึงการให้อภัย ที่จะทำให้ชีวิตคู่ของคุณกลายเป็นครอบครัวที่มีความสุขและสมบูรณ์แบบ