เรื่องแปลก ใหม่ น่าสนใจ ข่าวสาร บันเทิง สนุก เซ็กซี่ sexy ที่คุณ อยากรู้ ที่นี่ครับ ^^

SAMAZshop

Translate

ถ้ำพระยานคร ความสวยงามที่ซ่อนอยู่

แสงแดดจ้าปลายเดือนตุลาคม ผมเดินข้ามเขาเล็กๆที่เป็นแนวขวางกั้นระหว่างชายหาดของบ้านบางปูกับหาดแหลมศาลา
ขณะเดียวกันเสียงเรือยนต์ข้างล่างที่รับ-ส่งนักท่องเที่ยว
ที่ไปสู่จุดหมายเดียวกันกับผมที่หาดแหลมศาลาก็ยังคงดังอยู่อย่างต่อเนื่อง จุดหมายของทุกๆคนอยู่ที่ ถ้ำพระยานคร
การเดินทางไปหาดแหลมศาลา นั้นไปได้สองทาง
ทางแรกคือ นั่งเรือยนต์ที่คอยบริการ รับ – ส่ง ไปยังหาดแหลมศาลา ซึ่งใช้เวลาไม่นานนัก
ทางที่สอง คือเดินข้ามเขาเล็กๆที่ขวางกั้นอยู่ระหว่างหาดสองหาดระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร
ผมเลือกอย่างหลัง ค่อยๆเดินไปเรื่อยๆไม่ช้าไม่นานก็ถึงหาดแหลมศาลา
จุดหมายปลายทางของการเดินทางของผมในวันนี้ก็อยู่ที่ถ้ำพระยานคร
.
.
.
หลายครั้งที่ได้เห็นภาพถ่ายจากถ้ำพระยานครแห่งนี้พร้อมกับพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์
ครั้งแรกที่ได้เห็นผมถึงกับอุทานออกมา “นี่บ้านเรามีที่ที่สวยงามแบบนี้ด้วยเหรอ?”
ภาพที่สวยงามนั่นแหละที่ทำให้ผมอยากเดินทางมาที่นี่ อยากมาเห็นด้วยตาตัวเอง
คิดไปคิดมาก็ต้องยอมรับ ที่นี่เป็น Unseen Thailand อย่างที่เขาว่ากันจริงๆ
หาดแหลมศาลาและถ้ำพระยานครเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ที่นี่มีลานกางเต็นท์และบ้านพักที่อยู่หาดแหลมศาลาด้วย
แต่การเดินทางมาในครั้งนี้ผมไม่ได้ตั้งใจจะมากางเต็นท์นอนสักเท่าไหร่
เนื่องจากว่าได้ข่าวเกี่ยวกับยุงจำนวนมากที่หาดแห่งนี้ ทำให้การกางเต็นท์นอนตรงนี้ไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่นัก และก็จริงดังที่ว่า แค่เพียงผมเดินเล่นแค่ชายป่าสนริมหาด ก็มีฝูงยุงจำนวนมากบินตอมจำนวนยากแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่ 10-20 ตัว แต่ที่ผมพบ เรียกว่าเป็นร้อยๆตัวจะดีกว่า
เมื่อมาถึงหาดแหลมศาลาก็ใช่ว่า จะถึงถ้ำพระยานครในทันที
เราต้องเดินขึ้นเขาไปอีกระยะทางประมาณ 430 เมตร ระยะทางเหมือนไม่ไกลเท่าไหร่
แต่หนทางก็ใช่ว่าจะเดินแบบสะดวกสบาย
ทางเดินขึ้นเขาไปตลอดทางผมจึงได้ยินหลายๆคนบ่นไปตลอดทาง รวมทั้งผู้ร่วมทางกับผมด้วย
  
.
.

ระหว่างการเดินทางผมคิดถึงเรื่องราวของที่นี่ซึ่งได้อ่านก่อนเดินทางมาถึงซึ่งเป็นประวัติของถ้ำแห่งนี้
ในช่วงเวลาสมัยรัชกาลที่ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 
ถ้ำพระยานครถูกค้นพบโดย พระยานคร ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งท่านได้แล่นเรือผ่านมาทางเขาสามร้อยยอด 

และได้เกิดพายุใหญ่ ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ จึงได้หยุดพักแรมอยู่ใกล้ๆบริเวณนี้ และได้ค้นพบถ้ำขนาดใหญ่ 

ด้านบนเพดานมีปล่องขนาดใหญ่ มีแสงส่องเข้ามาด้านบนสวยงามมาก 

ตั้งแต่นั้นมาจึงตั้งชื่อถ้ำนี้ว่า 
“ ถ้ำพระยานคร ” ภายในถ้ำก็ยังมีหินงอกหินย้อย ในคูหาต่างๆที่สวยงามอีกมาก
ใช้เวลาเดินทางมาสักพัก ผมจึงพอมองเห็นปากทางเข้าถ้ำ แต่ระยะทางก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้
ต้องเดินลงเข้าไปในปากถ้ำนี้ลงไปอีก ระยะทางช่วงนี้ชันและลื่นพอสมควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
เสียงนักท่องเที่ยวที่เดินทางสวนมาทักทายมาบ่อยๆ “เดินอีกนิดเดียว จะถึงแล้ว สวยมากๆ”
หลายคนกล่าวกับผมเช่นนี้ เหมือนกันแทบทุกคน นั่นก็ยิ่งทำให้ผมอยากเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้นเพื่อให้ไปเห็นถ้ำพระยานครนี้เร็วๆ
เมื่อลงมาถึงจากทางลาดชันมาที่คูหาแรก เราจะต้องจะเป็นเดินต่อไปหน่อยถึงจะถึงคูหาใหญ่ที่ตั้งของพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์
เพียงแค่ที่ผมยืนอยู่ตรงนี้ผมก็พอมองเห็นพระที่นั่งฯบ้างแล้ว แค่นั้นแหละผมยอมรับว่าผมรีบเดินจ้ำอ้าวไปให้ถึงโดยเร็ว
ผมเดินจนผมลืมที่จะแวะชมสิ่งที่น่าสนใจอื่นเช่น น้ำตกแห้ง สะพานมรณะ ทางสันจเรเข้ ฯลฯ ไปเลย
ลืมแม้กระทั่งที่จะถ่ายรูปมาด้วยซ้ำ
.
.

เบื้องหน้าของผมคือ พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ เป็นพระที่นั่งที่ องค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สร้างไว้ภายในถ้ำแห่งนี้ เป็นพลับพลาแบบจัตุรมุขขนาดย่อม
กว้าง 2.55 เมตร ยาว 8 เมตร สูง 2.55 เมตร โดยวัดถึงช่อฟ้า
ครั้นเมื่อพระองค์ก็ได้เสด็จมาถึงที่ถ้ำพระยานครแห่งนี้ ก็ได้ลงพระปรมาภิไธยไว้ด้วย
และต่อมาก็มีพระเจ้าอยู่หัวอีก 2 พระองค์ได้เสด็จมาที่ถ้ำพระยานครแห่งนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
นั่นก็คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7(พระองค์ได้ลงพระปรมาภิไธยไว้เช่นเดียวกัน)
และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ถ้ำพระยานครแห่งนี้ องค์พระมหากษัตริย์ของไทยถึง 3 พระองค์ได้เสด็จมาที่ถ้ำแห่งนี้แล้ว 
นั่นก็ยิ่งทำให้ผมเห็นว่า ถ้ำแห่งนี้นอกจากจะสวยงามแล้ว ที่นี่ยังมีความสำคัญมากอีกด้วย
ตามความรู้สึกของผมนั้น ที่จริงถ้ำพระยานครแห่งนี้เป็นธรรมชาติที่สร้างสรรค์ได้อย่างสวยงามอยู่แล้ว
คูหาถ้ำที่กว้างใหญ่แต่เบื้องบนเพดานกลับมาปล่องขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกนั้นเมื่อแสงแดดสาดส่องลงมา
เพียงแค่นี้ก็สวยงามเป็นอย่างยิ่งแล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ผมต้องยอมรับว่า
มีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ถ้ำแห่งนี้สวยงามมากยิ่งขึ้นหลายเท่าก็คือ พระกระแสรับสั่งของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของเรา
ที่โปรดให้สร้าง พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ขึ้นมาที่นี่ เมื่อทั้งสองสิ่งนี้ผสานเข้าด้วยกัน
บอกได้ตามตรงว่า ผมไม่อาจจะบรรยายความสวยงามของที่นี่ได้จริงๆ ต้องเห็นด้วยตาของตัวเองเท่านั้น
ผมยืนนิ่งอยู่หน้าพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์เพ่งมองมองสวยงามอยู่เป็นเวลานาน
โดยไม่ได้ตั้งใจนาทีนั้นจึงเพิ่งนึกขึ้นมาได้ว่า วันที่ผมมายืนอยู่ตรงนี้ตรงกับวัน ปิยะมหาราช พอดี นาทีนั้นเป็นความปีติที่เหลือที่จะกล่าว
.
.
.
จากรูปภาพที่ผมเห็นผ่านหนังสือ พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ที่แสนงดงามประดิษฐานอยู่กลางถ้ำ
มีแสงอาทิตย์สาดส่องเข้ามา ความสวยงามนั้น ทำให้ผมอยากมาที่นี่ได้มาเห็นด้วยตาของตัวเอง
ใครจะไปเชื่อว่า กลางป่าแห่งนี้จะมีสถานที่ที่สวยงามแบบนี้ซ่อนอยู่
ความสวยงามที่ผมเองก็ยอมรับว่า ไม่คิดว่าจะมีที่แบบนี้อยู่ในเมืองไทยของเรา
ขณะอยู่ในถ้ำพระยานคร ผมก็พลันไปคิดถึงสถานที่ท่องเที่ยวอีกสถานที่หนึ่งที่ก็ถือว่าเป็น Unseen Thailand อีกที่เช่นเดียวกัน
ครั้งตอนที่ผมไปทำค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯที่อุทัยธานี
ขากลับอาจารย์พาพวกผมไปแวะที่สถานที่แห่งหนึ่งใกล้ๆกันมีวัดอยู่แถวนั้นพอดี
ผมจำได้ว่าครั้งนั้นหลวงพี่ที่วัดได้พาพวกผมเดินผ่านปากถ้ำเข้าไปข้างในด้วยไฟฉายเพียงกระบอกเดียว
ไม่ช้าเราก็พบกับคูหาขนาดใหญ่ ด้านบนเป็นปล่องขนาดใหญ่มีแสงแดดสาดส่องเข้ามา ป่าไม้ภายในถ้ำแห่งนี้สูงใหญ่
อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง คล้ายกับเป็นป่า ดึกดำบรรพ์
ตอนนี้สถานที่แห่งนั้นกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของอุทัยธานีไปแล้ว ที่นั่นคือ ‘หุบป่าตาด’
ตอนที่พวกผมได้เข้าไปสำรวจในตอนนั้น ที่นี่ไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างทุกวันนี้เลย
เรียกได้ว่าพวกชมรมของพวกเราได้เข้าไปที่หุบป่าตาดเป็นกลุ่มแรกๆเลยก็ว่าได้
.
.
.
ขณะเวลาที่ผมกำลังนั่งเขียนเรื่องนี้อยู่นั้น เรื่องราวของ ถ้ำพระยานครและหุบป่าตาด
ผมยินดีที่จะเรียกสถานที่ทั้งสองแห่งนี้ว่าเป็น “ความสวยงามที่ซ่อนอยู่”
 ในเมืองไทยผมเชื่อว่ายังมีสถานที่แบบนี้ซ่อนตัวอยู่อีกมาก
และสักวัน สิ่งเหล่านี้คงได้มีโอกาสเผยตัวให้เราเห็นอย่างแน่นอน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ติดตาม เรื่องแปลก ใหม่ ตลก สนุก เซ็กซี่ sexy น่าสนใจอื่น ๆ หรือแวะมาทักทายกัน ได้ที่
www.facebook.com/somphon http://gplus.to/somphon www.twitter.com/samaphon www.facebook.com/somphon.me http://samaphon.blogspot.com/

          ขอขอบคุณที่มา : email