อีกไม่กี่สัปดาห์นับจากนี้ "เฟซบุ๊ก" เว็บสังคมออนไลน์อันดับหนึ่งของโลก จะทยอยปรับหน้าเว็บเพจของผู้ใช้เป็นระบบที่เรียกว่า "ไทม์ไลน์" (timeline) โดยไทม์ไลน์เปิดตัวมาก่อนนี้แล้ว หลายคนอาจเคยได้ทดลองใช้กันไปบ้าง
ส่วนคำแถลงอย่างเป็นทางการของทางเฟซบุ๊กระบุว่า "ปีที่แล้วเราแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับไทม์ไลน์ รูปแบบใหม่ของการนำเสนอเรื่องราวส่วนตัว ที่ให้ทุกคนสามารถจัดแสดงรูปภาพ ความคิดเห็นต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และต่อไปนี้ทุกคนจะได้ใช้ไทม์ไลน์อย่างทั่วถึง เรามีเวลาให้ 7 วันเหมือนเดิม ในการเตรียมรูปแบบการนำเสนอของคุณ"
ส่วนกระบวนการการเปลี่ยนเป็นไทม์ไลน์ คือเมื่อกดเปลี่ยนแล้ว จะมีเวลา 7 วัน ให้ผู้ใช้บริหารจัดการข้อมูลในไทม์ไลน์ ก่อนจะแสดงให้คนอื่นๆ เห็น
ในกรณีที่เรามีโพสต์ใดๆ ที่ไม่อยากให้แสดงในไทม์ไลน์ สามารถ กดเปลี่ยนได้ โดยคลิกที่รูปดินสอตรงมุมขวาบนของแต่ละโพสต์ แล้วเลือก "ซ่อนจากไทม์ไลน์" และหลังจากการเปลี่ยนแปลงรอบนี้เสร็จสิ้น เฟซบุ๊กจะเริ่มใช้ไทม์ไลน์สำหรับหน้าเฟซบุ๊กที่เป็น "แฟนเพจ" ต่อไป
"เรื่องราวต่างๆ ของชีวิตที่ผ่านมา ทุกการกระทำ ทุกแอพพลิเคชั่นที่เคยใช้งาน จะปรากฏให้ผู้คนบนเครือข่ายทางสังคมได้รับรู้ และเป็นวิธีการใหม่ในการแสดงตัวตนว่า คุณคือใคร" มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หนุ่มอเมริกันผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก อธิบาย
และเสริมว่า มันเป็นวิธีที่สามารถบอกเรื่องราวทั้งหมดในชีวิตได้ภายในหน้าเดียว โดยโครงหน้าจะมีลักษณะคล้ายเป็นบล็อกส่วนตัวที่มีรูปภาพปกขนาดใหญ่อยู่ด้านบน ตามมาด้วยการอัพเดตสำคัญๆ ซึ่งจะระบุไว้ตามลำดับ
เฟซบุ๊กจะมีการเลือกการอัพเดตที่สำคัญที่สุดและไฮไลต์ด้วยจุดสีฟ้า ในขณะที่จุดสีเทาจะแสดงถึงการอัพเดตที่ซ่อนอยู่ ซึ่งผู้ใช้สามารถจัดการไทม์ไลน์ได้เอง
แนะนำการใช้ "ไทม์ไลน์"
ถึงแม้ว่าหน้าตาไทม์ไลน์อาจทำให้บางคนนึกถึงอดีตเว็บสังคมออนไลน์ที่เคยฮิตกันก่อนหน้าอย่าง "Hi5" แต่ถ้าได้ใช้แล้วจะพบว่าทั้งสองเว็บนี้ต่างกันอยู่พอสมควร
และสำหรับผู้ที่เริ่มต้นหัดเล่น ขอแนะนำให้เริ่มด้วยการเปิดใช้งานไทม์ไลน์เสียก่อน ทำได้โดยเข้าไปที่ลิงก์ https://www.facebook.com/about/timeline จากนั้นเลือกช่อง "Get Timeline" เพื่อเปิดใช้งานได้ทันที
เมื่อหน้าเฟซบุ๊กกลายเป็นไทม์ไลน์แล้ว สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากหน้าเว็บแบบเดิมก็คือ
1.หน้าปก (Cover photo) อยู่ด้านบนสุดของหน้าเว็บ ประกอบที่ว่างสำหรับใส่รูปภาพขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถเลือกรูปที่มีอยู่แล้วในหมวดของรูปภาพ หรืออัพโหลด รูปใหม่ได้ตามใจชอบ โดยขนาดรูปที่เหมาะกับการทำหน้าปก ก็คือขนาด 850ด320 พิกเซล
นอกจากนี้ ผู้ใช้สามารถออกแบบ หรือตกแต่งภาพหน้าปกได้หลายรูปแบบ หรือจะลองค้นหาไอเดียแปลกๆ ได้ตามหน้าเว็บที่เกี่ยวข้อง
2.รูปแสดงตัวผู้ใช้ หรือรูปโปรไฟล์ นั่นเอง อันที่จริงส่วนนี้ของเดิมก็มี แต่เมื่อรูปโปรไฟล์ถูกนำมาวางเยื้องกับรูปหน้าปก ทำให้เกิดรูปแบบสร้างสรรค์ความเฉพาะได้อย่างมากมาย ส่วนการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์นั้นให้เอาเมาส์ชี้ที่รูป แล้วจะมีเมนูขึ้นมาว่า "แก้ไขรูปประจำตัว"
3.เมนูหลัก เป็นกรอบสี่เหลี่ยมทางด้านขวาใต้ภาพหน้าปก ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ปรับปรุงข้อมูลส่วนตัว, บันทึกความเคลื่อนไหว และสัญลักษณ์รูปฟันเฟือง (Settings Cog)
โดยช่องปรับปรุงข้อมูลส่วนตัว เป็นส่วนของการตั้งค่าและแก้ไขข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของโปรไฟล์ ข้อมูลก็มีตั้งแต่ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน ถิ่นกำเนิด ความสัมพันธ์ รายชื่อสมาชิกในครอบ ครัว ข้อมูลสำหรับติดต่อ รวมไปถึงคำคมที่ชื่นชอบ
ช่องบันทึกความเคลื่อนไหว ในส่วนนี้เจ้าของโปรไฟล์จะเห็นเพียงแค่คนเดียว เป็นบันทึกความเคลื่อนไหวของผู้ใช้ ว่าเคยไปแสดงความคิดเห็นอะไรมาบ้าง เล่นเกม โพสต์รูปภาพที่ไหนบ้าง และอื่นๆ อีกมากมาย
ส่วนสุดท้ายคือรูปฟันเฟือง ส่วนนี้คือส่วนพรีวิวหน้าโปรไฟล์หลังจากแก้ไขแล้ว ซึ่งเป็นการจำลองหน้าเว็บก่อนแสดงออกสู่สาธารณชน
4.ข้อมูลส่วนตัว ส่วนนี้เป็นกรอบแสดงข้อมูลที่เราตั้งค่าไว้ในเมนูหลัก โดยข้อมูลจะแสดงไว้ด้านล่างรูปโปรไฟล์
5.กรอบรวบรวมเรื่องที่สนใจ เป็นกรอบสี่เหลี่ยมหลายๆ อันทางด้านขวาของช่องข้อมูลส่วนตัว เรื่องที่รวมไว้ได้แก่ รายชื่อเพื่อน รูปภาพล่าสุด สถานที่ที่ถูก tag และหน้าแฟนเพจที่กดถูกใจ เป็นต้น
และก็มาถึงส่วนสำคัญที่สุด อันเป็นที่มาของชื่อไทม์ไลน์ นั่นก็คือ "แถบความทรงจำ" มีการแสดงผลเป็นเส้นแห่งเวลา อยู่ด้านบนทางขวามือ โดยกรอบเวลานี้แบ่งเป็นรายเดือนและรายปี จนถึงวันที่เกิดกันเลยทีเดียว
ทั้งเจ้าของหรือคนที่อยากดูหน้าเว็บของคนอื่น สามารถเลือกช่วงระยะเวลาได้อย่างง่ายดาย เพียงคลิกไปที่ช่วงเวลาที่ต้องการย้อนดูเท่านั้น (บวกเวลาโหลดหน้าเว็บอีกนิดหน่อย)
การใช้งานอย่างสุดท้ายที่ขอแนะนำก็คือ การย่อ-ขยายเรื่องที่เราสนใจในไทม์ไลน์ ทำได้ด้วยการกดเมนูรูปดาวที่เรื่องนั้นๆ จากกรอบเรื่องเล็กจะขยายจนเต็มหน้าจอ เพื่อเป็นการเน้นความชอบส่วนตัว (highlight)
ไทม์ไลน์ แอพพลิเคชั่น
พอเปิดตัวไทม์ไลน์ไปแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือบรรดาแอพพลิเคชั่นเสริมการใช้งานต่างๆ ที่มีออกมามากมาย
ทั้งนี้ เฟซบุ๊กยังได้เปิดตัวพาร์ตเนอร์ ที่เป็นผู้พัฒนาโปรแกรมรายย่อยอีกกว่า 60 ราย เพื่อร่วมพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนไทม์ไลน์โดยเฉพาะ ซึ่งแต่ละรายมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป อาทิ กลุ่มท่องเที่ยว เช่น TripAdvisor กลุ่มอาหาร เช่น Food spotting, Foodily กลุ่มช็อปปิ้งและแฟชั่น เช่น eBay, Livingsocial, Pinterest กลุ่มบันเทิง เช่น Rotten Tomatoes, Daily motion, Metacafe, Zynga และเว็บดังๆ อีกหลายแห่ง เช่น Foursquare, Digg, Kobo, TicketMaster, Monster
เตรียมพร้อม เฟซบุ๊ก "ไทม์ไลน์" คือ อะไร ใช้ยังไง สำหรับมือใหม่คับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น