เรื่องแปลก ใหม่ น่าสนใจ ข่าวสาร บันเทิง สนุก เซ็กซี่ sexy ที่คุณ อยากรู้ ที่นี่ครับ ^^
เลาะโขง สัมผัสธรรมชาติ จาก "เลย" ไป "หนองคาย" ได้บรรยากาศ ดีจัง
การเดินทางสัมผัสธรรมชาติและวัฒนธรรม ริมแม่น้ำโขงความสงบงามอยู่กลางรอยต่อระหว่างประเทศ
เวลามีใครมาถามคุณว่า ชอบสีอะไร คุณตอบสีอะไร
เวลามีใครมาถามฉันว่า ชอบสีอะไร ฉันตอบ สีเขียว
สีเขียว ทำให้สดชื่น สบายตา สบายใจ และสีเขียวของนาข้าวขั้นบันไดที่วางตัวอยู่บนไหล่เขาเบื้องหน้า ก็สะดุดตาจนไม่อาจแบ่งความรู้สึกไปรักไปชอบ "สี" อื่นได้เลย
..............
แม้จะออกเดินทางตั้งแต่แสงแรกของวันยังไม่ปรากฏ แต่เพราะธรรมชาติและทิวทัศน์ข้างทางที่เขียวฉ่ำ ระยะทางกว่า 400 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ถึง อ.ด่านซ้าย จ.เลย จึงไม่สามารถทำให้เราเผลอหลับลงได้ ยิ่งมาเจอกับบรรยากาศสบายๆ หลังฝนเทไปเมื่อเช้า ยิ่งชวนให้เราต้องปรับเข้าสู่โหมด "สดชื่น" ทันที
ทริปนี้เป็นการเดินทางสัมผัสธรรมชาติและวัฒนธรรมด้วยการ "ขับรถ" โดยยกเอาแม่น้ำโขงขึ้นมาเป็นโจทย์ที่ไม่ต้องแก้ (แค่อยากตั้งไว้เฉยๆ) แล้วก็ขับรถเลาะ เลย ไปเรื่อยๆ จนถึง หนองคาย สบายๆ แบบค่ำไหนก็ต้องนอนในโรงแรมที่จับจองไว้ (ซะอย่างนั้น)
"จังหวัดอะไรไปไม่ถึงสักที" คำถามแสน "เชย" แต่คำตอบคือ "เลย" ทุกครั้งไป เหตุที่เราต้องปักธง start ไว้ที่เลยเป็นจังหวัดแรก ก็เพราะแม่น้ำโขงซึ่งเป็นโจทย์ของการเดินทาง ไหลผ่านประเทศไทย (อีกครั้ง) ที่บ้านท่าดีหมี ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย แต่ครั้นจะมุ่งหน้าไปเริ่มต้นที่นั่นก็กลัวพลาด "สิ่งสำคัญ" ระหว่างทางไป เอาเป็นว่า อะไรน่าสนใจก็ค่อยๆ แวะไปเรื่อยๆ แล้วกัน
เลย เป็นจังหวัดใหญ่ที่อยู่ในภาคอีสานตอนบน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชัน แต่ก็ยังพอมีพื้นที่ราบลุ่มให้คนเลยได้ทำเกษตรกรรมบ้าง คนเลยผิวขาวสะอาด หน้าตา (โดยมาก) ไม่ต่างจากคนลาวล้านช้าง ซึ่งพอพลิกหนังสือประวัติศาสตร์ดูก็รู้ว่า คนเลยปัจจุบันเป็นส่วนผสมของคนในพื้นที่กับชาวหลวงพระบางที่อพยพถิ่นฐานมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23 เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ภาษาพูด หรือวัฒนธรรมบางอย่าง เลยกับหลวงพระบางจึงไม่ต่างกันนัก
"มาจากไหนกันจ๊ะ" แม่ชีชุดขาว ทักเราด้วยสำเนียงคนเมืองเลย ทำให้ฉันต้องละสายตาจากผนังศิลาสีแดงมายิ้มให้ แล้วต่อบทสนทนากับแม่ชีไป
แม่ชีว่า วัดเนรมิตปัสสนา เป็นชื่อปัจจุบันแต่ก่อนนั้นชื่อ วัดหัวนายูง สร้างด้วยบารมีของหลวงพ่อมหาพัน (พระครูภาวนาวิสุทธิญาณ) ที่ชาวเลยเคารพนับถือ วัดนี้มีอุโบสถหลังใหญ่ที่สร้างด้วยศิลาแลง ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างเขียนชาวด่านซ้าย มองเรื่องราวก็คล้ายกับวัดอื่นๆ คือเป็นพุทธประวัติทศชาติชาดกเรื่องพระเวสสันดร แต่แม่ชีว่า กว่าจะเขียนเสร็จใช้เวลายาวนานถึง 8 ปีเต็มเลยทีเดียว
ความร่มรื่นของต้นไม้สีเขียวๆ ทำให้ฉันเดินชมวัดโดยรอบได้ไม่รู้เบื่อ เหมือนกับ พระธาตุศรีสองรัก ที่ร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะ "ลั่นทม"
ศรีสองรัก" เป็นชื่อที่ฟังแล้วรู้สึกโรแมนติกก็จริง แต่ที่แท้แล้วสร้างขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยานแห่งสัจจะไมตรี ระหว่างพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเจ้าแห่งอาณาจักรล้านช้าง ที่จับมือกันสร้างความมั่นคงจากการรุกรานของพม่า โดยมีพันธสัญญาว่า จะไม่ล่วงล้ำดินแดนของกันและกัน
ด้วยคำมั่นที่ให้ต่อกัน พระธาตุศรีสองรักจึงเป็นประจักษ์พยานและคงมนต์ขลังมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ห้ามทุกคนที่แต่งกายด้วยชุดสีแดง หรือนำสิ่งของที่มีสีแดง ดอกไม้สีแดง เข้าไปในพระธาตุโดยเด็ดขาด เพราะว่ากันว่าพระธาตุศรีสองรักเป็นพระธาตุแห่งสันติไมตรี ส่วนสีแดงเป็นสีของเลือดและความรุนแรง ดังนั้นใครละเมิดความเชื่อดังกล่าวมักจะมีอันเป็นไปทุกคน (ไม่เชื่ออย่าลบหลู่)
ดูเหมือนฝนจะคิดถึงเราอีกรอบ วัดโพนชัย ที่อยู่ในเมืองด่านซ้าย จึงเป็นสถานที่หลบฝนอย่างดี แต่หลบไม่หลบเปล่า เรายังถือโอกาสเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ผีตาโขน ที่อยู่ภายในด้วย
ผีตาโขน เป็นเสน่ห์ของด่านซ้ายที่ใครเห็นก็รู้จัก ฉันเองก็เช่นกัน รู้จักประเพณีผีตาโขนมานาน เห็นหน้ากากผีตาโขนมาก็เยอะ แต่ถามว่าเคยมาชมงานประเพณีผีตาโขนจริงๆ จังๆ สักครั้งบ้างๆ ไหม อยากมาใจจะขาด แต่ก็พลาดทุกครั้ง
นอกจาก อ.ด่านซ้ายแล้ว ต่อไปหน่อยที่ อ.นาแห้ว มีวัดโบราณหลายแห่งที่สำคัญ อย่าง วัดโพธิ์ชัย ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนาพึง ต.นาพึง ก่อตั้งตั้งแต่สมัยอยุธยา รูปแบบเป็นการผสมผสานกันระหว่างล้านช้างและล้านนา ภายในประดิษฐานพระเจ้าองค์แสน หรือพระเจ้าฝนแสนห่า ฉันนั่งมองพักตร์ขององค์พระแล้วต้องยิ้ม เพราะพักตร์ท่านอิ่มและงดงามด้วยสีทองที่เปล่งประกาย ที่พระโอษฐ์ก็แดงสดใส ดูแล้วยิ้มได้จริงๆ
สำหรับจิตรกรรมฝาผนังที่เลอะเลือนไปด้วยกาลเวลา ได้ข่าวว่าปัจจุบันกำลังจะได้รับการบูรณะฟื้นฟูจากศิลปินฝีมือดี ซึ่งถ้าบูรณะเสร็จ เราคงได้เห็นภาพจิตรกรรมที่งดงามเต็มรูปแบบ
หลายคนอาจจะสับสนระหว่างวัดโพธิ์ชัย กับ วัดศรีโพธิ์ชัย ซึ่งสร้างร่วมสมัยกัน แต่วัดหลังนี้อยู่ห่างออกไปไม่ไกล ตั้งอยู่ในหมู่บ้านแสงภา ถ้ามองจากมุมสูงจะมองเห็นท้องนาสีเขียวสดตัดสะท้อนด้วยสีทองของวัด ดูมีเสน่ห์สะกดตาสะกดใจได้ดีนัก
บนเส้นทางจาก อ.นาแห้ว ถึง อ.ท่าลี่ มีสถานที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวสามารถแวะได้หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ชมการผลิต ถั่วคั่วทราย ที่สุดเขตชายแดนไทย-ลาว บ้านเหมืองแพร่ พระธาตุสัจจะ กลุ่มหัตถกรรมหวายและผ้าทอบ้านนากระเซ็ง และสะพานมิตรภาพน้ำเหือง ที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาว
เราไปชมแสงสุดท้ายที่ พระใหญ่ภูคกงิ้ว หรือ พระพุทธนวมินทรามงคลลีลาทวินคราภิรักษ์ ซึ่งตั้งโดดเด่นอยู่บนเชิงเขาเหนือปากแม่น้ำเหือง พรมแดนระหว่างไทย-ลาว ก่อนที่แม่น้ำสายนี้จะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บ้านท่าดีหมี และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของแม่น้ำโขงช่วงที่ 2 ในประเทศไทย
หลังอาหารเย็นฉันไปเดินเล่นบนถนนเลียบโขง เชียงคาน มีร้านขายของฝากของที่ระลึกเปิดกิจการมากมาย ทั้งที่เป็นคนเมืองและคนพื้นที่ รวมถึงเกสท์เฮ้าส์บรรยากาศดีอีกหลายแห่ง ดูแล้วคึกคักกว่าปีก่อนที่ฉันเคยมามาก
ค่ำนั้นฉันมีโอกาสพูดคุยกับทั้งคนพื้นที่และคนต่างถิ่นที่มาอยู่รวมกัน ณ เชียงคาน หลายคนมีแนวคิดในการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ต่างกันไป บ้างอยากให้คงสภาพ บ้างอยากให้ปรับปรุงเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่ไหลบ่า ซึ่งเหตุผลที่หลายฝ่ายแสดงออกมาในรูปของการ "ถกเถียง" ทำให้ฉันเริ่มไม่มั่นใจว่า ตอนนี้ เชียงคาน ยังสบายดีอยู่หรือเปล่า
...............
แม่น้ำโขงวางตัวเองอย่างสงบงามอยู่กลางรอยต่อระหว่างประเทศไทย-ลาว เข้าทำนอง "บ้านน้องอยู่ฝั่งโน้น บ้านพี่อยู่ฝั่งนี้" ไม่มีหัวสะพาน แต่เวลาอาบน้ำกันก็เห็นกันทุกที วิถีชีวิตริมแม่น้ำโขงเรียบง่าย และเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า จนบางครั้งรู้สึกเหมือนกับว่า เวลาหยุดเดินได้จริงๆ
เช้านี้อากาศสดใส อาจเพราะไม่มีเม็ดฝนกวนใจเหมือนวันก่อนๆ หลังจากเข้าไปไหว้พระที่ วัดศรีคุณเมือง วัดท่าครก และวัดมหาธาตุ แล้ว เราก็ออกเดินทางจากเชียงคานในตอนสายๆ มุ่งหน้าลงใต้ไปทาง จ.หนองคาย ทันที
รู้สึกไปเองหรือเปล่าไม่รู้ แต่ตั้งแต่ผ่าน อ.ปากชม เข้า อ.สังคม จนถึง อ.ศรีเชียงใหม่ รู้สึกว่า "หนองคายเงียบๆ" เงียบทั้งผู้คน ต้นไม้ข้างทางก็ดูหงอยเหงา อากาศร้อนอบอ้าว ไม่เย็นใจเหมือนถนนหนทางในเส้นที่เคยผ่านมา หรือว่า หนองคาย กำลังอยู่ในช่วงทำใจ เพราะลูกในอกอย่าง "บึงกาฬ" เติบโตเป็นผู้ใหญ่ และมีกำหนดจะออกจากบ้านไปสร้าง "รากฐาน" ของตัวเองในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
เราแวะไปพักอารมณ์และความรู้สึกกันที่ วัดอรัญบรรพต ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งแวะพักก็หมายถึงพักจริงๆ เพราะหลังจากที่ไหว้พระในพระสุธรรมเจดีย์ ที่เป็นทั้งเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพิพิธภัณฑ์ของหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ เกจิอาจารย์ด้านวิปัสสนาชื่อดังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทุกคน (ย้ำ ทุกคน) ก็ก้มหน้าก้มตากดโทรศัพท์ยี่ห้อหนึ่งกันอย่างเมามัน เพราะตลอดทางไม่มีสัญญาณพอที่จะสื่อสารกับเพื่อนในโลกออนไลน์ได้เลย เห็นแล้วก็อดขำไม่ได้
วัดพระธาตุบังพวน อ.ท่าบ่อ เป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งที่ชาวจังหวัดหนองคายให้ความเคารพสักการะ แต่พระธาตุที่เห็นปัจจุบันเป็นองค์ใหม่ที่บูรณะโดยกรมศิลปากร โดยทุกๆ วันขึ้น 11 ค่ำ เดือนยี่ ของทุกปี ประชาชนชาวหนองคายจะจัดงานนมัสการพระธาตุขึ้น ถือเป็นงานประจำปีที่คนหนองคายให้ความสำคัญ
ต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้มเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ฉันใช้เวลานานกว่าครึ่งชั่วโมงในการเดินชมสถาปัตยกรรมต่างๆ ในวัด มีกลุ่มพระธาตุโบราณกระจายตัวอยู่โดยรอบราว 15 องค์ ใกล้ๆ กันยังมีโบราณสถานที่เรียกว่า สัตตมหาสถาน อันเป็นสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธประวัติเมื่อครั้งตรัสรู้ ดูแล้วรู้สึกจิตสงบนิ่งตามไปได้จริงๆ
ตัวเมืองหนองคายค่อนข้างวุ่นวายเหมือนเมืองอื่นๆ และจะวุ่นวายมากขึ้นในช่วงงานวันออกพรรษา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เพราะทุกปีจะเกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์ "บั้งไฟพญานาค" เป็นลูกไฟสีแดงอมชมพูพุ่งออกมาจากกลางแม่น้ำโขง ซึ่งหลายคนเชื่อกันว่าเป็นบั้งไฟของพญานาคที่เมืองบาดาล วันออกพรรษาจึงเป็นวันที่ประชาชนทั่วสารทิศเดินทางมาชื่นชมความอัศจรรย์ที่จะเกิดขึ้น
และเมื่อมาแล้วก็อย่าให้เสียเที่ยว หลายคนจึงพากันมาเดิน ตลาดท่าเสด็จ เพื่อหาซื้อของฝาก ก่อนกลับก็แวะสักการะ "หลวงพ่อพระใส" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ประดิษฐานอยู่ใน วัดโพธิ์ชัย ให้เป็นสิริมงคลด้วย
ฉันเดินตามรอยนักท่องเที่ยวทั่วๆ ไปเหมือนใส่พิมพ์เดียว แต่ก็รู้สึกดีที่ปีนี้มีโอกาสกลับมาสักการะหลวงพ่อพระใสอีกครั้ง และก็แอบหวังเล็กๆ ว่า ปีหน้าจะต้องมาสรงน้ำพระใสในวันสงกรานต์ให้ได้ สักครั้ง
........................
สีเขียว ทำให้สดชื่น สบายตา สบายใจ ผละจากสีทองขององค์พระใส ฉันก็ได้เห็นสีเขียวๆ ของท้องนาและทุ่งหญ้าอีกครั้ง หลังจากที่รถแล่นเข้าทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ ถนนที่พาเราทุกคนกลับบ้าน
............................
การเดินทาง-ที่พัก
ทริปขับรถเที่ยว จากกรุงเทพฯ แนะนำให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) มุ่งหน้า จ.สระบุรี แต่ก่อนถึงจะมีทางเลี่ยงเมือง ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 21 ผ่าน อ.ชัยบาดาล, อ.ศรีเทพ, อ.วิเชียรบุรี ไปจนถึง จ.เพชรบูรณ์ จากนั้นตรงไปจนถึงแยกหล่มสัก เปลี่ยนไปใช้ทางหลวงหมายเลข 203 ตรงไป อ.ด่านซ้าย แวะสถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอนี้ ก่อนจะใช้ทางหลวงหมายเลข 2113 ตรงไป อ.นาแห้ว จากนั้นเลาะริมแม่น้ำโขงไปกับทางหลวงหมายเลข 2195 จนถึง อ.ท่าลี่, อ.เชียงคาน ต่อจากนี้ยังเลียบแม่น้ำโขงอยู่แต่เปลี่ยนเป็นทางหลวงหมายเลข 211 ผ่าน อ.ปากชม, อ.สังคม, อ.ศรีเชียงใหม่, อ.ท่าบ่อ และ อ.เมือง จ.หนองคาย ก่อนจะใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ในการเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร
ที่พัก แนะนำให้พักที่ อ.ด่านซ้าย ก่อน 1 คืน มีที่พักหลายแบบ แนะนำ ภูนาคำ รีสอร์ท โทร. 0-4289-2005-6 หรือ http://www.phunacomeresort.com และภูผาน้ำ รีสอร์ท โทร. 0-4207-8078-9 ที่ อ.เชียงคาน แนะนำที่ โรงแรมสุขสมบูรณ์ โทร.0-4282-1064 หรือ บ้านสองผัวเมีย เกสท์เฮ้าส์ แอนด์ แฮนดิคราฟท์ โทร.08-5464-8008 หรือ http://www.husbandandwifechiangkhan.com จากนั้นอาจจะพักชมความงามของแม่น้ำโขงที่ อ.ปากชม อีก 1 คืน แนะนำ อกาลิน ฮอลิเดย์ วิลล่า โทร. 0-2512-1789, 08-1926-5724 หรือ http://www.agalin.com ส่วนที่ จ.หนองคาย แนะนำ บุษไฟน์ รีสอร์ท โทร. 0-4201-2767-8 และ http://www.budsabongfineresort.com
สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวทั้งหมดได้ที่ ททท. call center 1672
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ติดตาม เรื่องแปลก ใหม่ ตลก สนุก เซ็กซี่ sexy น่าสนใจอื่น ๆ หรือแวะมาทักทายกัน ได้ที่
ขอขอบคุณที่มา : email
www.facebook.com/somphon http://gplus.to/somphon www.twitter.com/samaphon www.facebook.com/somphon.me http://samaphon.blogspot.com/ |
ขอขอบคุณที่มา : email
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น