เรื่องแปลก ใหม่ น่าสนใจ ข่าวสาร บันเทิง สนุก เซ็กซี่ sexy ที่คุณ อยากรู้ ที่นี่ครับ ^^

SAMAZshop

Translate

ซุปหูฉลาม อาหารไฮโซ อาหารอันตรายทั้งฉลาม และคน ( อ้าว จริงหรอ )



โดยศจ.เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ราชบัณฑิต

ซุปหูฉลาม อาหารไฮโซ อาหารอันตรายทั้งฉลาม และคน 

ความจริงแล้ว ปลาทั้งหลายไม่มีหู ปลามีแต่ครีบ เอาไว้ว่ายน้ำ ฉลามก็คือปลาชนิดหนึ่ง ที่มีความว่องไวปราดเปรียว มีเขี้ยวที่แหลมคม มีอันตรายแก่นักว่ายน้ำในทะเลและมหาสมุทร จะถูกทำร้าย เนื้อฉีกได้ง่ายๆ

แต่ปลาฉลามก็คือปลา ย่อมแพ้คน คนเราไปเอาครีบโตๆ มาตากแห้ง และนำไปปรุงอาหารที่เขาว่ากันว่าแสนจะโอชะหลายอย่าง เช่น ซุบหูฉลาม หูฉลามผัดแห้ง เป็นที่พึงปรารถนาของ บรรดาเศรษฐี หรือ บุคคลผู้มีรสนิยมสูง ที่พวกเราหลายคนนิยมเรียกว่าพวก “ไฮโซ”
ตัวผมเองเป็นประเภทรายได้ต่ำ แต่บางทีนานๆทีก็มีเจ้ามือพาไปเลี้ยงที่เหลาบ้าง ลำพังตัวเองขึ้นเหลาไม่ไหว ต้องเดินตามไฮโซไปบ้าง จำได้ว่ามีอยู่ครั้ง สองครั้ง ได้ไปรับประทานซุบหูฉลามที่อร่อยที่ภัตตาคารไหหว่าเทียนที่หาดใหญ่ ทราบว่าตอนนี้รวยมากไปเลยหยุดกิจการไปแล้ว คงทำให้ฉลามหายเสียวครีบไปได้หน่อย

เห็นภาพในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ ๙ มีนาคมที่เพิ่งผ่านมา 
เขาเอาภาพครีบฉลามกำลังตากให้แห้ง ตากอยู่กับพื้นบนลานข้างถนนในฮ่องกงนับพันๆครีบทีเดียว น่าหดหู่ อีกไม่ช้า เราคงจะเล่าเรื่องหูฉลามให้เด็ก ๆ ฟังโดยให้เด็กดูจากรูปเท่านั้นเอง ตัวจริงที่แสดงในอะควาเรียมอาจไม่มีเหลือ

วันนี้ ผมจะเอาเรื่องที่ผมเพิ่งจะไปพบรายงานการวิจัยที่เผยแพร่ออกมาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ 
เกี่ยวข้องกับอันตรายในการกินหูฉลาม มาเล่าให้ฟังกัน เป็นการเตือนสติเอาไว้ แต่ใครไคร่บริโภคตามใจปาก ผมก็คงไปขัดคอขัดลิ้นของท่าน ก็อ่านดูเอาไว้ประดับความรู้ทั่วไปบ้างก็แล้วกัน

อวัยวะที่เราเอามาบริโภคกันนั้น เป็นครีบของฉลาม คนไทยเราเรียกเพี้ยนไปเป็นหูฉลาม ฝรั่งเรียกว่า Shark fin ฟินแปลว่าครีบ ซึ่งถูกต้อง แต่ความนิยมคือความนิยม ไปเปลี่ยนกันยาก
_
อันที่จริง บทรายงานที่ผมจะนำมาเล่านี้ อาจจะช่วยเปลี่ยนใจหลายท่านให้บริโภคหูฉลามลดลง 
เป็นการช่วยชีวิตปลาฉลาม ให้ถูกล่าน้อยลง ที่ผมได้ยินได้ฟังมา เขาเล่ากันว่า เมื่อชาวประมง ล่าฉลามมาได้แล้ว จัดการตัดเอาครีบออกทั้งสองข้าง แล้วโยนกลับลงทะเล ไม่ใยดีว่าจะไปตายหรือไปรอด ซึ่งจริงๆแล้วก็ไปไม่รอด เพราะชาวประมงไม่ต้องการเนื้อฉลาม ซึ่งไม่อร่อยและเหม็นคาวจัดมาก

ผมจำกลิ่นคาวได้เพราะตอนเป็นนิสิตชั้นปีที่ ๑ เรียนวิชาชีววิทยาภาคปฏิบัติ หรือเรียนแล็บ ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องเรียนวิชาชำแหละกบ ชำแหละฉลาม จำได้ว่ามีกลิ่นคาวมากแทบจะเลิกกินปลาทีเดียว 

เรากลับเข้าเรื่อง มาหาบทรายงานการวิจัยต่อไปดีกว่า 
ผมได้อ่านพบข่าวในวารสารชื่อ AsianScientist ฉบับวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ รายงานโดยคุณ รีเบ็คคา ลิม ข่าวนี้อ้างอิงถึงรายงานวิจัยดั้งเดิมซึ่งตีพิมพ์รายงานไว้ในวารสาร Marine Drugs* ฉบับต้นตออีกทีหนึ่ง ชื่อเรื่องว่า Cyanobacterial Neurotoxin β-N-Methylamino-L-alanine (BMAA) in Shark Fins โดยผู้เขียนบทรายงานชื่อ มอนโดและคณะ (Mondo K et al) จะสรุปให้อ่านกันดังนี้

“นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยไมอามี สหรัฐอเมริกา วิจัยพบว่าในหูฉลาม มีสารพิษ ที่ก่อพิษร้ายแรงต่อระบบประสาทของมนุษย์ได้ โดยจะไปทำให้มีการเสื่อมของเซลล์ประสาท ทำให้เกิดโรคของระบบประสาทได้ เช่น “โรคอัลไซเมอร์ โรค ลู เกห์ริก หรืออีกชื่อเรียกว่าโรค อะไมโอโทรปิค แลเทอรัล สเคลอโรสิส – (Lou Gehrig disease or Amyotrophic lateral sclerosis, เรียกย่อๆว่า ALS) 
การกินซุปหูฉลาม คือ การกินกระดูกอ่อนครีบของปลาฉลาม นักวิจัยได้เอาตัวอย่างครีบฉลามหลายพันธุ์ เป็นฉลามสดๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ 

เป็นฉลามพันธุ์ที่นิยมนำเอามาบริโภคกัน ซึ่งผมไม่ทราบว่าในภาษาไทยเรียกพันธุ์อะไรกันบ้าง ได้แก่ blacknose, blacktip, bonnethead, bull, great hammerhead, lemon, และ nurse sharks ฉลามพวกนี้ ล่ามาจากน่านน้ำทะเลฟลอริดาใต้ พบว่า มีสารที่มีชื่อว่า บีต้า-เอ็น-เมธิล อะมิโน-แอล-อะลานีน ( β-N-Methylamino-L-alanine เรียกชื่อย่อๆว่า BMAA) ซึ่งเป็นสารพิษต่อระบบประสาท

ศาสตราจารย์ แม็ชและคณะ ได้เริ่มทำการวิจัยมาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๕๒ โดยศึกษาวิจัยในผู้ป่วยโรค Alzheimer’s Disease และ ALS 
พบว่ามีระดับสาร BMAA ในสมองสูงมากในสมอง ๑ มิลลิกรัมพบปริมาณที่สูงถึง ๒๕๖ นาโนกรัม ในขณะที่คนปกติจะตรวจไม่พบว่ามีสารนี้ในสมองหรือมีแต่เพียงกระเส็นกระสายเล็กน้อยเท่านั้นเอง การวิจัยล่าสุดรายงานว่าพบสารดังกล่าวในครีบฉลามในปริมาณตั้งแต่ ๑๔๔ ถึง ๑,๘๓๖ นาโนกรัมทีเดียว

สาร BMAA นี้ พบว่ามีความสัมพันธุ์เกี่ยวข้องกับโรคระบบประสาทเสื่อมในประชาชนชาวเกาะกวมมาก่อน กล่าวคือจะมีเซลล์ประสาทมีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปร่างและการทำหน้าที่ของเซลล์ประสาท

สาร BMAA คืออะไร แหล่งกำเนิดต้นตออยู่ที่ใหนและเกิดขึ้นได้อย่างไร 

สาร BMAA มีชื่อเต็มว่า บีต้า-เอ็น-เมธิลอะมิโน-แอล-อะลานีน ( β-N-Methylamino-L-alanine) เป็นสารที่มีคุณสมบัติทางชีวเคมีเป็นกรดอะมิโน แต่ไม่ใช่โปรตีน ผลิตขึ้นในธรรมชาติโดยแบคทีเรียที่มีชื่อว่า cyanobacteria และรู้จักกันในนามว่า สาหร่ายสีน้ำเงินอมเขียว หรือ blue-green algae ซึ่งมีบางท่านเรียกเป็นภาษาไทยว่า “สาหร่ายน้ำเงินแกมเขียว” ถ้าใช้คำว่า “อม” น่าจะเหมาะกว่าคำว่า “แกม”

สาร Beta-N-Methylamino-L-alanine นี้เป็นสารพิษ หากฉีดให้แก่ลิงรีซุส จะทำให้ลิงมีพฤฒิกรรมเปลี่ยนแปลง มีกล้ามเนื้อลีบฝ่อลง ถ้าสารนี้ไปรวมเข้ากับเซลล์สมองจะทำให้ เซลล์สมองตาย สารนี้ มีคุณสมบัติคล้ายกรออะมืโนอะลานีน จึงไปรวมกับเซลล์สมองทำให้เกิดสารเชิงซ้อนและทำให้เซลล์ตายได้
cyanobacteria สาหร่ายสีน้ำเงินอมเขียว หรือ blue-green algae คืออะไร 

ไซยาโนแบคทีเรีย มีลักษณะเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว รูปแบบทั้งตัวเป็นเซลล์มีสารพันธุกรรมและไม่มีเยื่อหุ้มนิวนิวเคลียส ทำให้สามารถเจริญแบบเพิ่มจำนวนได้โดยการแบ่งตัว

ไซยาโนแบคทีเรีย สามารถปรับตัวได้สูงมากโดยการ สร้างเมือกห่อหุ้มเซลล์ และในเซลล์จะมีถุงลมเพือการพยุงตัว หาสภาวะที่เหมาะสมในการสังเคราะห์แสง มีเม็ดสีช่วยในการต่อต้านแสงอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ แบคทีเรียนี้ จะอาศัยอยู่ทั่วไปบริเวณชายฝั่งทะเล

สาหร่ายสีเขียวอมน้ำเงินพวกที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างอิสระ และดำรงชีวิตร่วมกับสิ่งที่มีชีวิตอื่นๆ ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกกันว่า Blue tide ซึ่งในภาษาไทยเรียกกันว่า “ขี้วาฬ” นั่นเอง และยังมีสาหร่ายสีแดงอีกที่ทำให้เกิด Red tide ก็มี

ปลาฉลามเป็นปลาที่มีอายุยืน อยู่ในธรรมชาติอยู่ได้นาน คงจะกินสาหร่ายน้ำเงินอมเขียวที่เกิดในทะเลเข้าไป จึงมีการสะสมสารพิษดังกล่าวนั้นได้มาก นักบริโภคหูฉลามน่าเพลาปากลงหน่อยนะ ได้ข่าวมาเลยเอามาเล่าสู่กันฟัง

ชาวไฮโซที่นิยมบริโภคหูฉลามบ่อยๆ จะสะสมสาร BMAA ทีละน้อยๆ จนมากพอที่จะไปทำให้เป็น “อัลไซเมอร์” ได้เหมือนกันนะครับ 


ซุปหูฉลาม อาหารไฮโซ อาหารอันตรายทั้งฉลาม และคน ( อ้าว จริงหรอ )
ที่มา: ขอขอบคุณข้อมูลจากเพื่อน ๆ ด้วยครับ
ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ (Find me on)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ติดตาม เรื่องแปลก ใหม่ ตลก สนุก เซ็กซี่ sexy น่าสนใจอื่น ๆ หรือแวะมาทักทายกัน ได้ที่
www.facebook.com/somphon http://gplus.to/somphon www.twitter.com/samaphon www.facebook.com/somphon.me http://samaphon.blogspot.com/

          ขอขอบคุณที่มา : email